วิธีดูแลผู้สูงวัยในครอบครัว

0

จะสิ้นปีแล้ว ที่ผ่านมายังไม่ได้ดูแลคนที่เป็นที่รักในบ้านเลย เผยวิธีดูแลผู้สูงวัยในครอบครัว

กินอาหารที่มีประโยชน์ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่กินอาหารได้น้อยลง เนื่องจากอวัยวะในร่างกายเสื่อมสภาพลง โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร ทำให้ท้องอืดเฟ้อ รวมถึงปัญหาช่องปากและฟัน ส่งผลให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด นอกจากนี้ผู้สูงวัยมักดื่มน้ำน้อย และขาดการออกกำลังกาย จึงเป็นสาเหตุของอาการท้องผูก ดังนั้นอาหารของผู้สูงอายุจึงควรเป็นอาหารที่อ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย อาจใช้การหั่น สับ หรือการปั่นให้อาหารชิ้นเล็ก รวมถึงปรับเปลี่ยนวิธีปรุงเป็นการนึ่ง ตุ๋น หรือ ต้มอาหารให้นิ่ม เน้นการรับประทานผักผลไม้ที่รับประทานง่ายและไม่หวานจัด เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับวิตามินและกากใยอาหารอย่างพอเพียง โปรตีนควรเลือกประเภทที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา ไข่ขาว หรือ นม เลี่ยงการปรุงอาหารรสชาติจัดจ้าน ลดหวาน มัน เค็ม รวมถึงดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงอย่างน้อย 1-1.5 ลิตรต่อวัน ลดการดื่มน้ำหวาน แอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ในช่วยบ่ายหรือเย็นเพราะจะทำให้นอนหลับยากขึ้น

ขยับร่างกายวันละนิดชีวิตยืนยาว การออกกำลังกายช่วยให้อวัยวะในร่างกายแข็งแรงทุกระบบ ตั้งแต่ หัวใจ ปอด ระบบขับถ่าย กระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงสมอง แต่ผู้สูงอายุหลายท่านไม่กล้าออกกำลังกายเพราะกลัวว่าจะพลัดตกหกล้ม หรือกลัวว่าจะไม่มีแรงออกกำลัง ดังนั้นผู้ดูแลจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการออกกำลังกายของผู้สูงวัย เริ่มตั้งแต่จัดกิจกรรมออกกำลังกายที่ปลอดภัยเหมาะสมกับสภาพร่างกายและคอยให้ความช่วยเหลือ เช่น ช่วยพยุงให้ขยับกายบริหารเบาๆ พาเดินหรือเดินแกว่งแขนช้าๆ ช่วยยืดคลายกล้ามเนื้อ ให้ได้ทุกวันอย่างน้อยวันละ 10-20 นาที และค่อยๆเพิ่มความหนักและระยะเวลาขึ้นเรื่อยๆ หากผู้สูงวัยยังแข็งแรงอยู่ ควรออกกำลังกายให้ครบทั้ง 3 รูปแบบ คือ 1.คาร์ดิโอ (เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน แอโรบิคเบาๆ) 2.เล่นเวทเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และ 3.ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและฝึกการทรงตัวเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว เพิ่มเติมตามความเหมาะสมครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน

สุขอนามัยที่ดีลด ละ เลิกสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า พฤติกรรมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการหกล้ม ดูแลควบคุมโรคประจำตัวตามแพทย์แนะนำ และพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่ร่างกายแข็งแรงดีควรตรวจสุขภาพและตรวจคัดกรองโรคประจำวัย ของผู้สูงอายุ เช่น สมองเสื่อม ซึมเศร้า กระดูกพรุน ภาวะการมองเห็นหรือการได้ยินผิดปกติ ภาวะขาดสารอาหาร เป็นประจำทุกปี

การขับถ่ายก็สำคัญ ผู้สูงอายุควรหมั่นสังเกตการขับถ่ายของตัวเองว่ามีปัญหาท้องผูก ท้องผูกสลับท้องเสียบ่อยๆ อุจจาระมีมูกเลือด หรือมีปัสสาวะอุจจาระเล็ดหรือไม่ ทั้งนี้ไม่ควรอายที่จะบอกปัญหาการขับถ่ายกับผู้ดูแลหรือคนใกล้ชิดเพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง ซึ่งอาจจะสามารถแก้ไขได้ และผู้สูงวัยจะได้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

ความสะอาด ภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุไม่ค่อยแข็งแรงมักติดโรคได้ง่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ผู้ดูแลควรใส่ใจดูแลฟัน เล็บ ผิวหนัง ผมและซอกหลืบต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงบริเวณอวัยวะเพศและก้น ไม่ควรปล่อยให้อับชื้นและเกิดการระคายเคือง อาหารก็สำคัญ ไม่ควรนำอาหารค้างคืนมารับประทาน หรือเอายาเก่าๆ ที่อาจหมดอายุมาใช้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

ความอบอุ่น กำลังใจและความรักในครอบครัวสำคัญต่อผู้สูงอายุอย่างมาก หากอยู่บ้านเดียวกันควรมีกิจกรรมร่วมกัน ไม่แยกให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตแบบ “คนแก่” อย่างโดดเดี่ยว หาโอกาสพาลูกหลานไปเยี่ยมผู้สูงวัยที่อยู่เพียงลำพังอย่างสม่ำเสมอ พาท่านไปทำกิจกรรมที่คนหลายๆ วัยสามารถทำร่วมกันได้ ที่สำคัญควรใส่ใจในการ “รับฟัง” ท่านอย่างให้เกียรติ เพราะท่านก็ยังต้องการรู้สึกเป็นที่ยอมรับ และรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าในสายตาของคนในครอบครัว

แม้ผู้สูงอายุจะเคยเป็นคนแข็งแรง แต่เมื่อร่างกายเสื่อมถอยลงจึงเป็นบุคคลที่ต้องการการดูแลอย่างเอาใจใส่และถูกสุขลักษณะ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยไม่มองข้ามการพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ และให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะการป่วยไข้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ดังนั้นการป้องกันจึงย่อมดีกว่าการรักษาเสมอ

ข้อมูลจาก samitivejhospitals.com

นอกจากนี้ท่านยังสามารถ อัพเดต ติดตามข้อมูลข่าวสาร แผนการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน รวมถึงสาระดีดี ได้ที่ www.krumaiiam.com
Facebook Fanpage : krumaiiam เพราะเราคือครูรุ่นใหม่
Facebook Fanpage : วิถีครูเวร
Facebook Group: แบ่งปันสื่อการสอน by krumai

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed