ตั้งอยู่ริมถนนผากอง ตำบลในเวียง อยู่ใกล้กับวัดพระธาตุช้างค้ำ วรวิหาร ตามพงศาวดารของเมืองน่าน
พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อ พ.ศ. 2139 มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” พระอุโบสถเป็นอาคารทรงจตุรมุข มีนาคสะดุ้งตัวใหญ่ 2 ตัวเทินพระอุโบสถไว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ หันหน้าออกสู่ประตูทั้งสี่ทิศ วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2410 โดยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช ใช้เวลานานถึง 7 ปี สันนิษฐานว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงคงจะวาดขึ้นในสมัยที่มีการซ่อมแซมครั้งนี้ ภาพจิตรกรรม หรือ “ฮูปแต้ม” ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ แสดงเรื่องชาดก วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และตำนานพื้นบ้านของชาวเมืองน่าน ภาพปู่ม่านย่าม่าน นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสมบูรณ์ หาดูได้ยาก และเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของวัดภูมินทร์ นอกจากนี้ วัดภูมินทร์ยังเป็นวัดที่สร้างทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว ตัวอาคารเป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ประธาน โดยอาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้เป็นพระอุโบสถ รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ในธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ สร้างพระวิหารหลังนี้จำลองไว้ด้วย สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือบานประตูแกะสลักทั้งสี่ทิศ เป็นไม้สักทองแผ่นเดียว หนาประมาณ 4 นิ้ว แกะเป็นลวดลายพรรณพฤกษา เครือเถา ดอก ใบ เกาะเกี่ยวกันอย่างอ่อนช้อย ซึ่งเป็นฝีมือสกุลช่างเมืองน่าน
ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย