เอกลักษณ์สำคัญของวัดพระธาตุช้างค้ำ คือ เจดีย์ทรงลังกา มีฐานรอบองค์ป้้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว คล้ายลักษณะเอาหลังหนุนหรือ ค้ำ องค์พระเจดีย์ไว้ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย

ตั้งอยู่ริมถนนสุริยพงษ์ ตรงข้ามศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่าน เดิมเรียก “วัดหลวง” หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. 1949 เป็นวัดหลวงในเขตนครน่าน สำหรับเจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาและพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤๅชัย เจ้าเมืองน่าน ได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2091 ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุช้างค้ำนี้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย เช่น เจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ดูคล้ายจะเอาหลังหนุน หรือ “ค้ำ” องค์เจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางประทานอภัย สูง 1.45 เมตร อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย ส่วนผสมของทองคำร้อยละ 65 พระประธานเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง

ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

By admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่น่าสนใจ