ก.ค.ศ.อนุมัติเดินหน้าสอบบรรจุ’ครู ผช.’ สพฐ.-เกณฑ์คัดเลือก ‘รอง-ผอ.’กศน.จว.

0

ก.ค.ศ.อนุมัติเดินหน้าสอบบรรจุ’ครู ผช.’ สพฐ.-เกณฑ์คัดเลือก ‘รอง-ผอ.’กศน.จว.

ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน 2564 มีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบวิธีการดำเนินการบริหารจัดการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปี พ.ศ.2564 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 

หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการเลื่อนการดำเนินการออกไป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยมอบ สพฐ.ดำเนินการจัดสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และ ภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ในอำนาจหน้าที่ของ กศจ. และ อ.ก.ค.ศ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยการใดที่ กศจ.ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ว 14/2564 ไปแล้ว ให้ส่งมอบให้ สพฐ.เพื่อดำเนินการต่อไป

และเพื่อให้การสอบแข่งขันฯสามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้ในสภาวการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค-19 ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) 

จึงให้ผู้มีสิทธิสอบ ภาค ก และ ภาค ข ตามที่ได้ประกาศรายชื่อไว้แล้ว ได้แจ้งความประสงค์ในการเข้าสอบในจังหวัดที่ตนเองพักอาศัยในปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้เข้าสอบในการเดินทางไปสอบในจังหวัดที่ได้ยื่นใบสมัครไว้

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ได้อนุมัติ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 

เนื่องจาก ก.ค.ศ.ได้กำหนด มาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ (ว 3 /2564) โดยมีผลใช้บังคับทันที

ประกอบกับหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯที่กำหนดไว้เดิม ได้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งปัจจุบันบริบทต่างๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป และเพื่อให้หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเป็นไปแนวทางเดียวกันกับคัดเลือกตำแหน่งอื่นๆ ในสายงานบริหารการศึกษา จึงได้ปรับหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร

โดยคำนึงถึงบริบทของลักษณะงานที่รับผิดชอบ สามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจลักษณะงานของการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาอัธยาศัย และนำนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้

1.คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก 

1.1 ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน. และปัจจุบันต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งที่สมัครเข้ารับการคัดเลือก

1.2 คุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, 1.3 เป็นผู้มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.4/ว 3 ลงวันที่ 26 มกราคม 2564

2.กำหนดหลักสูตรการคัดเลือก ประกอบด้วย 3 ภาค ดังนี้

ภาค ก ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่ การวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการนำไปใช้ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

ภาค ข ความสามารถทางการบริหาร (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

3.เกณฑ์การตัดสิน

3.1 ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องได้คะแนน ภาค ก และภาค ข แต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละห้าสิบ
และรวมทั้งสองภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ และประกาศรายชื่อเรียงลำดับตามเลขประจำตัวสอบ เพื่อเข้ารับการประเมิน ภาค ค

3.2 ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องได้คะแนน ภาค ค ไม่ต่ำกว่าร้อยละห้าสิบ

3.3  ผู้ได้รับการคัดเลือกต้องได้คะแนนรวม ภาค ก ภาค ข และภาค ค ไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบและให้ประกาศรายชื่อโดยเรียงลำดับที่จากผู้ที่ได้คะแนนรวมจากมากไปหาน้อย                                    

4.ให้ อ.ก.ค.ศ.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้กำหนดจำนวนตำแหน่งว่างที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้ง วันและเวลาในการคัดเลือก องค์ประกอบ ตัวชี้วัด คะแนนการประเมิน ภาค ข และ ภาค ค และการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งการบริหารจัดการเกี่ยวกับการออกข้อสอบ และเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก 

ทั้งนี้ อาจมอบสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยหรือตั้งคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกได้

5.กำหนดระยะเวลาการขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก ไม่เกินสองปี

6.กำหนดให้ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ต้องได้รับการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.edunewssiam.com/th/articles/256920

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed