จิตวิทยาสำหรับครู EP2 ความหมายของจิตวิทยา

0

จิตวิทยาสำหรับครู EP2 ความหมายของจิตวิทยา

ความหมายของจิตวิทยา

คําว่า “จิตวิทยา” ตรงกับคําในภาษาอังกฤษว่า Psychology ซึ่งมีสัญลักษณ์ คือ “Y” เป็นตัวอักษรตัวหนึ่งของภาษากรีก หากมีการวิเคราะห์คํานี้ออกมาแล้วจะแยกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือ Psycho มาจากคําภาษากรีกว่า psyche แปลว่าจิต หรือวิญญาณ (Soul) และส่วนที่สองคือ logy มาจากคําภาษากรีกว่า logos แปลว่า การศึกษา (Study) การค้นคว้า หรือการหาความรู้ เมื่อนําสอง ส่วนนี้มารวมกันจึงได้เป็นคําศัพท์ว่า psychology หมายถึง การศึกษาค้นคว้าที่เกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณ (A study of soul) ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยกรีกโบราณซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการศึกษาทางจิตวิทยา นักปรัชญาในขณะนั้นได้พยายามค้นคว้าและหาคําตอบว่าจิตหรือวิญญาณมีความสําคัญและมีอิทธิพล อย่างไรต่อการกระทําของมนุษย์ จะเห็นได้ว่าเป็นการศึกษาถึงสิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่สามารถพิสูจน์และ ค้นคว้าให้เห็นจริงได้

ต่อมาภายหลังตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นักจิตวิทยายุคใหม่จึงเปลี่ยนแนวทาง มาศึกษาการกระทําของมนุษย์ที่สามารถสังเกตได้ วัดได้ และทดลองได้ จากนั้นจึงใช้คําว่า พฤติกรรม (behavior) มาแทนลักษณะการกระทําของมนุษย์ โดยจะศึกษาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ เป็นสําคัญ นอกจากนี้ยังได้นําระเบียบวิธีการต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาหาคําตอบ เกี่ยวกับพฤติกรรมทั้งหลายอีกด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทําให้จิตวิทยาได้รับการยอมรับให้เป็น วิทยาศาสตร์ประยุกต์แขนงหนึ่ง รวมทั้งมีผู้ให้คําจํากัดความและความหมายของจิตวิทยาไว้ ดังนี้

https://www.youtube.com/watch?v=KPDp0nStmS0

จอห์น บี, วัตสัน (John B. Watson, 1913 อ้างถึงใน Hitgard E.R., Atkinson R.C. and Atkinson, R.L. 1971: 14) เป็นนักจิตวิทยาคนแรกที่ให้คํานิยามเกี่ยวกับจิตวิทยาไว้ว่า “จิตวิทยาเป็น วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม”

นอร์แมน แอล. มันน์ (Norman L. Munn, 1969: 2) ให้คําจํากัดความไว้ว่า จิตวิทยาเป็น วิทยาศาสตร์ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมโดยเน้นที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์

ฮิลการ์ด (Hilgard, 1971: 2) อธิบายว่า จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ และสัตว์อื่น

ไซเดอร์ และคณะ (Crider and others, 1983: 4) ให้คํานิยามว่า จิตวิทยาเป็นการศึกษา ถึงพฤติกรรมและกระบวนการทางจิต ด้วยระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์

– ฟิลด์แมน (Feldman, 1992: 2) ให้คํานิยามไว้ว่า จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับ พฤติกรรมและกระบวนการทางจิต ด้วยระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์

จากความหมายที่กล่าวมาทั้งหมดอาจสรุปได้ว่า จิตวิทยาเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม และกระบวนการทางจิตของมนุษย์และสัตว์ โดยใช้ระเบียบวิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์

ส่วนคําว่า พฤติกรรม (behavior) หมายถึง การกระทําหรือการแสดงออกของร่างกาย โดยนักจิตวิทยานิยมแบ่งพฤติกรรมมนุษย์ (human behavior) เป็น 2 ประเภท ดังนี้ (ไพบูลย์ เทวรักษ์, 2537: 3-6; เติมศักดิ์ คทวณิช, 2546: 12, สิทธิโชค วรานุสันติกูล, 2546: 14)

1. พฤติกรรมภายนอก (overt behavior) หมายถึง พฤติกรรมหรือการกระทําที่แสดง ออกมาให้สังเกตเห็นได้ รับรู้ได้ หรือใช้เครื่องมือตรวจสอบได้ พฤติกรรมภายนอกแบ่งเป็น 2 ลักษณะ

คือ

1.1 พฤติกรรมโมลาร์ (molar behavior) เป็นพฤติกรรมภายนอกที่สามารถสังเกตได้ โดยตรงด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์ ไม่จําเป็นต้องใช้เครื่องมือหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ในการสังเกต เช่น การพูด การหัวเราะ การเดิน การเคลื่อนไหวของร่างกาย การขับรถ การเล่นกีฬา การทําอาหาร เป็นต้น

1.2 พฤติกรรมโมเลกุล (molecular behavior) เป็นพฤติกรรมภายนอกที่จะรับรู้ได้ โดยอาศัยเครื่องมือหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการตรวจสอบ เช่น คลื่นสมอง ความดัน โลหิต คลื่นหัวใจ การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีหรือปริมาณน้ําตาลในกระแสเลือด การทํางานของ กระเพาะอาหารและลําไส้ การทํางานของต่อมต่างๆ เป็นต้น

2. พฤติกรรมภายใน (covert behavior) หมายถึง พฤติกรรมที่เป็นความในใจของบุคคล ซึ่งเจ้าของพฤติกรรมเท่านั้นที่รู้ได้ บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรับรู้ได้โดยตรง ทําได้เพียงสันนิฐานจาก พฤติกรรมภายนอกเท่านั้น หรือเรียกว่ากระบวนการทางจิต (mental process) ซึ่งเป็นกระบวนการทํางานของสมองในรูปแบบต่างๆ เช่น การจํา การคิด การรับรู้ การเข้าใจ การตัดสินใจ ความรู้สึก อารมณ์ แรงจูงใจ จินตนาการ เจตคติ ค่านิยม เป็นต้น

ข้อมูล: สุนิสา วงศ์อารีย์ คณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี

นอกจากนี้ท่านยังสามารถ อัพเดต ติดตามข้อมูลข่าวสาร แผนการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน รวมถึงสาระดีดี ได้ที่ www.krumaiiam.com
Facebook Fanpage : krumaiiam เพราะเราคือครูรุ่นใหม่
Facebook Fanpage : วิถีครูเวร
Facebook Group: แบ่งปันสื่อการสอน by krumai

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed