ความรู้ทั่วไป

ให้แก่-ให้กับ ใช้อย่างไร ให้ ถูกต้อง

By admin

November 04, 2023

ให้แก่-ให้กับ : ระหว่าง … กับ – ระหว่าง … และ อย่าสับสนใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง

ภาษาสำนวนไทยที่ในปัจจุบันใช้สับสนกันมากที่สุดทั้งในหมู่นักวิชาการ นักการเมือง และในข่าวสารทั่ว ๆ ไป ก็คือสำนวนว่า “ให้แก่”-“ให้กับ” และ “ระหว่าง…กับ”-“ระหว่าง…และ”

          ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงสำนวนว่า “ให้แก่”-“ให้กับ” ก่อนในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุมของวุฒิสภา พบว่าบรรดาสมาชิกวุฒิสภาที่อภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภานั้น จะใช้คำว่า “ให้กับ” กว่าร้อยละ ๙๐ และเมื่อได้ฟังการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถ่ายทอดออกอากาศทางสถานีวิทยุรัฐสภา ก็ได้ยินคำว่า “ให้กับ” อยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน เมื่อได้ยินการสัมภาษณ์ การให้สัมภาษณ์ การสนทนา และข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะพบสำนวนว่า “ให้กับ” ประมาณร้อยละ ๙๐ เช่นเดียวกัน

           การใช้คำว่า “ให้กับ” นี้คงมีมานานแล้ว อาจจะก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ก็เป็นได้ ซึ่งคงทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทนรำคาญพระราชหฤทัยไม่ได้จึงได้ทรงมี “ประกาศ” ฉบับหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ เป็นฉบับที่ ๑๗๙ “ประกาศให้ใช้คำ กับ แก่ แต่ แต่ ต่อ ใน ยัง ในที่ควร” เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๕ ค่ำ ปีมะแม เอกศก มีข้อความตอนหนึ่ง แห่งประกาศฉบับนั้นเป็นดังนี้

           “…นอกกว่านี้ใช้ แก่ คือ พระราชทานแก่ ให้แก่ บอกแก่ แจ้งความแก่ ทำโทษแก่ ลงโทษแก่ ใคร ๆ อะไร ๆ ว่าไม่สุดแล้ว คำที่ต่อกับ แจ้งแก่ ร้องเรียนแก่ ทำคุณแก่ ทำให้แก่ บอกให้แก่ แจกจ่ายแก่ เสียไปแก่ ลงพระราชอาณาแก่ ให้ปรับไหมแก่ ได้แก่ เสียแก่ ไว้แก่ ไว้ใจแก่ ไว้ความแก่ เอ็นดูแก่ เห็นแก่ ให้ถ้อยคำแก่ ย่อมแก่ โกรธแก่ ไว้ธุระแก่ ให้ศีลให้พรแก่ สมควรแก่ จงมีแก่ สงสารแก่ ขายให้แก่ ให้ช่องแก่ และอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ให้ว่าแก่ อย่าว่ากับเลย …”

           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของชาติไทย ทั้งในด้านศาสนา ด้านวิเทโศบายในการติดต่อกับต่างประเทศ ฯลฯ และทรงมีความห่วงใยต่อการใช้ภาษาไทยของคนในชาติมาก แม้พระองค์จะทรงมี “ประกาศ” เรื่องการใช้คำว่า “ให้แก่” มาเป็นเวลาเกือบ ๑๔๐ ปีแล้ว ประชาชนชาวไทยแทบทุกระดับชั้นก็ยังคงใช้ “ให้กับ” กันอยู่ ทั้งในการพูดและการเขียน ในการตรวจรายงานการประชุมของวุฒิสภา ข้าพเจ้าได้เสนอให้ใช้สำนวนไทย ๆ อยู่หลายคำรวมทั้งคำว่า “ให้แก่” ด้วย ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจรายงานการประชุมฯ เห็นชอบด้วย เมื่อเราพบคำว่า “ให้กับ” ก็ได้แก้เป็น “ให้แก่” หมด ทั้งนี้เพราะบันทึกรายงานการประชุมวุฒิสภาจะเป็นเอกสารสำคัญของชาติตลอดไป เพื่อเด็กรุ่นหลังมาอ่านรายงานการประชุมฯ ของวุฒิสภาแล้วจะได้ใช้ตามมากขึ้น ถือว่าเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เป็นอย่างดียิ่งวิธีหนึ่ง

           นอกจากนั้น เมื่อข้าพเจ้าได้ตรวจผลงานทางวิชาการของบรรดาอาจารย์ที่ขอเลื่อนฐานะเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ก็ดี เป็นรองศาสตราจารย์ก็ดี เป็นศาสตราจารย์ก็ดี หรือเป็นอาจารย์ ๓ ก็ดี ได้พบอยู่เสมอว่า เวลาใช้คำว่า “ระหว่าง” มักจะใช้คู่กับคำว่า “และ” เช่น ระหว่างไทยและฝรั่งเศส ระหว่างฮินดูและมุสลิม ระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและวัฒนธรรมตะวันตก ฯลฯ ข้าพเจ้าต้องแก้เป็น “ระหว่าง … กับ” ทุกแห่งเสมอไป  เพราะรู้สึกรำคาญสำนวนว่า “ระหว่าง … และ” เต็มที ทั้งนี้ก็คงเป็นเพราะได้รับอิทธิพลมาจากภาษาอังกฤษนั่นเอง เพราะภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “between…and…” จึงแปลตามตัวว่า “ระหว่าง…และ” แม้แต่อาจารย์ที่เสนอผลงานเพื่อขอเป็นศาสตราจารย์บางคน ยังใช้ “ระหว่าง … และ” อยู่เกือบตลอดทั้งเล่ม และเป็นอย่างนี้ทุกเล่มด้วยยกเว้นในบัตรเชิญไปร่วมพิธีมงคลสมรส ข้าพเจ้ายังไม่เคยพบข้อความว่า “ระหว่างนาย … และนางสาว…” เลยในเมื่อบัตรเชิญไปร่วมพิธีมงคลสมรสยังใช้ “ระหว่าง … กับ” ได้ แต่ทำไมในการเขียนผลงานทางวิชาการ หรือในการเขียนข่าว จึงต้องใช้ “ระหว่าง … และ” ทำไมจึงไม่ใช้ “ระหว่าง … กับ” ซึ่งเป็นสำนวนไทยที่ดีอยู่แล้วบ้าง

           ในเวลาตรวจรายงานการประชุมฯ ของวุฒิสภา ก็ได้พบสำนวนฝรั่งอีกสำนวนหนึ่งก็คือ สำนวนที่ต่อด้วยคำว่า “ของ”  เช่น “ในเรื่องของ”   “ในกรณีของ” ฯลฯ  เราก็ได้ตัดคำว่า “ของ”  ออก เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เช่น “ในเรื่องของการส่งสินค้าออก” เราก็แก้เป็น “ในเรื่องการส่งสินค้าออก” หรือสำนวน เช่น “ในกรณีของการสั่งสินค้าเข้ามา” ก็แก้เป็น “ในกรณีสั่งสินค้าเข้ามา” ในกรณีดังกล่าวมานี้ แม้ไม่มีคำว่า “ของ” ก็อ่านรู้เรื่อง สำนวนอย่างนี้ก็คงติดมาจากสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “story of” หรือ “in the case of” นั่นเอง ข้าพเจ้าเห็นว่าเราควรหันมาใส่ใจและสนใจการใช้ภาษาไทย สำนวนไทยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแบบฉบับให้อนุชนรุ่นลูกหลานของเราได้ใช้ภาษาไทย สำนวนไทยให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะภาษาไทยก็นับว่าเป็นวัฒนธรรมไทยที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากแสดงให้เห็น “เอกลักษณ์” ของความเป็นไทยอย่างแท้จริง.

ผู้เขียน  ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ประเภทปรัชญา สาขาวิชาตรรกศาสตร์  สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง

ที่มา   จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๐๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒