15 ประโยชน์ดีดี ที่ได้จากวิตามินซี

0

วิตามินซี (Vitamin C) มีประโยชน์

วิตามินซี (Vitamin C) มีชื่อทางเคมีซึ่งเป็นตัวที่ออกฤทธิ์คือ กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ และร่างกายไม่สามารถสร้างหรือสังเคราะห์เองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับโดยการรับประทานอาหาร ซึ่งการเสริมวิตามินซีอาจทำได้โดยการเพิ่มการรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ เช่น ส้ม กีวี มะละกอ แตงโม องุ่น แคนตาลูป บรอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก หรือรับประทานวิตามินซีในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary supplement)

https://www.freepik.com/free-photo/colorful-fruit_1278356.htm#query=vitaminc&position=14&from_view=search&track=sphมีการศึกษาและงานวิจัยมากมายที่ระบุว่าวิตามินซีอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ดังนี้

1. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต่อต้านและลดระดับอนุมูลอิสระได้ เมื่ออนุมูลอิสระในร่างกายลดลงและกลับมาอยู่ในระดับปกติ ความเสี่ยงของโรคที่มาจากการอักเสบและความเสียหายเรื้อรังของเซลล์ภายในร่างกายก็จะลดลง พูดง่าย ๆ ก็คือ วิตามินซีมีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ป้องกันการถูกทำลายและการตายของเซลล์ต่าง ๆ วิตามินซีจึงอาจส่งผลดีต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันหลายชนิด เช่น LDL, ลดการเกิดสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง, ช่วยป้องกันการถูกทำลายของเซลล์บุหลอดเลือดด้านใน (Endothelia cell) จึงดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

     – อนุมูลอิสระเป็นสารที่เกิดขึ้นจากกลไกธรรมชาติในร่างกายร่วมกับการมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้น หากร่างกายมีอยู่มากเกินไปก็จะทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของร่างกายหรือภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative Stress) ทำให้เกิดความเสื่อมของเซลล์ กระตุ้นการอักเสบของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงของโรคและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงหรือโรคเรื้อรังไปจนถึงโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง

2. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน จากการศึกษาพบว่าวิตามินซีมีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ช่วยเสริมความแข็งแรงและป้องกันความเสียหายของเม็ดเลือดขาวที่เป็นผลมาจากอนุมูลอิสระ โดยรวมจึงทำให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย หรือสูบบุหรี่ ที่พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ก็จะทำให้เกิดโรคหรืออาการของโรครุนแรงขึ้นได้ เม็ดเลือดขาวเป็นหนึ่งในสารภูมิต้านทาน (Antibody) ของร่างกาย มีหน้าที่ในการต่อต้านและกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อกำจัดเชื้อโรคแปลกปลอมสำเร็จ เม็ดเลือดขาวก็จะจดจำวิธีการตอบสนองต่อเชื้อโรคชนิดนั้น ๆ และส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น โดยจะช่วยลดความรุนแรง ความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือการป่วยจากเชื้อชนิดเดิมได้

3. ผลิตคอลลาเจน วิตามินซีช่วยให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน คอลลาเจนเป็นองค์ประกอบโครงสร้างที่สำคัญในผนังหลอดเลือด เหงือก ผิวหนัง และกระดูก ทำให้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ที่ฟื้นตัวจากบาดแผลหรือการผ่าตัด วิตามินซียังช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารเสริมและอาหารจากพืช (คอลลาเจนประกอบขึ้นเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในผิวหนัง กระดูกอ่อน เส้นเอ็น และหลอดเลือด การมีคอลลาเจนเพียงพอไม่เพียงแต่ทำให้ผิวและข้อต่อแข็งแรง แต่ยังช่วยรักษาความดันโลหิตของคุณโดยการรักษาหลอดเลือดแดงและเส้นเลือดของคุณให้แข็งแรง)

4. อาจช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้น (เล็กน้อย) วิตามินซีเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว (Tyrosinase inhibitor) ออกฤทธิ์โดยการไปลดจำนวนของสารควิโนน (Quinones) ที่เป็นตัวเปลี่ยนไปเป็นเม็ดสีผิวที่ทำให้ผิวคล้ำหรือดำ นอกจากนี้วิตามินซียังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดสารอนุมูลอิสระที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสีผิว และช่วยป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดที่เป็นตัวทำให้ผิวคล้ำ เพราะฉะนั้นตามหลักการเสริมวิตามินซีจึงน่าจะช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการเสริมวิตามินซีในรูปของอาหารเสริมจะช่วยให้ขาวกระจ่างใสขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป

https://www.freepik.com/free-photo/top-view-vegetable-composition-with-fruits-white-background_17127405.htm#from_view=detail_alsolike

5. ดีต่อสุขภาพผิวและริ้วรอย วิตามินซีมีอยู่ในผิวหนังตามธรรมชาติ มีบทบาทในการสังเคราะห์คอลลาเจนและช่วยปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระได้  (ในวัยชราหรือในผู้ที่ผิวถูกทำลายจากอนุมูลอิสระมักมีระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำกว่าปกติ ) และงานวิจัยส่วนใหญ่ในประเด็นนี้มักทำการศึกษาในรูปแบบครีมหรือเซรั่มสำหรับทาผิวมากกว่ารูปแบบรับประทาน โดยมีการศึกษาที่สำคัญดังนี้ การเสริมวิตามินซีในรูปแบบรับประทานพบว่า สามารถช่วยปกป้องกันผิวจากรังสียูวี (UV) เมื่อทานร่วมกับวิตามินอี และช่วยลดริ้วรอยเหี่ยวย่นหรือผิวเสียก่อนวัยได้  แต่บางงานวิจัยก็ระบุว่ามีผลน้อย และยังมีข้อสรุปไม่ชัดเจน การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของวิตามินซีและวิตามินอี สามารถช่วยลดความเสียหายต่อผิวหนังที่เกิดจากรังสียูวีได้เมื่อเทียบกับการใช้ครีมกันแดดเพียงอย่างเดียว  ส่วนการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของวิตามินซีเพียงอย่างเดียวดูเหมือนว่าจะไม่มีประโยชน์ในการป้องกันรอยแดงจากรังสียูวีเมื่อเทียบกับสูตรยาหลอก  การศึกษาขนาดเล็กในผู้หญิง (อายุเฉลี่ย 55 ปี) พบว่าการใช้เซรั่มวิตามินซี 5% ทาวันละครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน ช่วยให้ริ้วรอยเหี่ยวย่น ผิวหยาบกร้าน ผิวหย่อนคล้อย ดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเซรั่มที่ไม่มีวิตามินซี  การวิจัยในห้องปฏิบัติการโดยใช้หนังสัตว์ พบว่าการดูดซึมของวิตามินซีในรูปแบบทาจะได้ผลดีที่สุดเมื่อผลิตภัณฑ์มีค่า pH น้อยกว่า 3.5 และมีความเข้มข้นของวิตามินซีที่ 10-20%  แต่ปัญหาคือผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มักไม่ได้บอกรายละเอียดเหล่านี้เอาไว้ และโปรดทราบว่าวิตามินซีรูปแบบทาไม่สามารถซึมผ่านผิวชั้นบนสุด (Stratum corneum) ได้ง่าย และรูปแบบทาไม่ได้ช่วยเพิ่มระดับวิตามินซีในผิวหนังหากว่าร่างกายมีระดับวิตามินซีในเลือดที่อิ่มตัวอยู่แล้ว (ซึ่งเกิดเมื่อรับประทานวิตามินซีวันละ 500 มก.) 

6. ป้องกันภาวะขาดวิตามินซี (Vitamin C deficiency) ภาวะนี้อาจพบได้ในผู้รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีไม่เพียงพอ หรือพบในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ การสูบบุหรี่ ภาวะแอลกอฮอล์เรื้อรัง และภาวะเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหอบหืด โรคไตวายเรื้อรัง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น และภาวะขาดวิตามินซียังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน ทำให้แผลหายช้าในผู้ป่วยที่มีแผล (การสมานแผลอาจลดลง) เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ส่วนอาการแรกเริ่มของการขาดวิตามินซีมักจะไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการปวดตามแขนขา หายใจสั้น ข้ออักเสบ เป็นต้น ซึ่งการได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอต่อวันสามารถช่วยป้องกันโรคหรืออาการเหล่านี้ได้

– เลือดออกตามไรฟัน (Scurvy) การขาดวิตามินซีเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคเลือดออกตามไรฟันได้ โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำ (27 µmol/L หรือต่ำกว่าในผู้ใหญ่) หรือได้รับวิตามินซีจากการบริโภคอาหารต่ำ (เพียงวันละ 30-60 มก. ในผู้ใหญ่) สัมพันธ์กับการเกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน และการเสริมวิตามินซีเฉลี่ยวันละ 222 มก. เป็นเวลา 41 วัน สามารถช่วยลดอาการเลือดออกตามไรฟันได้ (นักวิจัยแนะนำว่าปริมาณเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 110 มก. ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะเป็นปริมาณที่มากกว่า RDA ที่แนะนำในผู้ใหญ่) อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดอยู่ในระดับปกติ คือ 48-70 µmol/L อาหารเสริมวิตามินซีจะไม่ได้ช่วยลดอาการเลือดออกตามฟัน 

– ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก การขาดวิตามินซีส่งผลต่อการดูดซึมของธาตุเหล็ก และหากร่างกายขาดธาตุเหล็กก็อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) ได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง อ่อนเพลีย ใจสั่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ วูบหน้ามืด ตัวซีด ผมร่วง ผิวแห้ง เล็บผิดปกติ ฯลฯ 

– เล็บผิดปกติ การศึกษาพบว่าการขาดวิตามินซีอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพเล็บ เช่น ทำให้เล็บเว้าลงจนคล้ายรูปช้อน (Koilonychia), เล็บอ่อนและบางทำให้งอหรือหักได้ง่าย (Hapalonychia)  ซึ่งอาจเป็นเพราะวิตามินซีช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็ก และการขาดธาตุเหล็กส่งผลต่อสุขภาพเล็บ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาใดแสดงให้เห็นได้ว่า การเสริมวิตามินซีจะช่วยให้เล็บมีสุขภาพดีขึ้นทั้งในคนปกติหรือในคนที่ร่างกายขาดวิตามินซีหรือธาตุเหล็ก 

– การอักเสบของข้อ การขาดวิตามินซีอาจทำให้เกิดอาการคล้ายกับอาการอักเสบ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ โดยมีรายงานว่าผู้ป่วยจำนวน 10คน (อายุ 3-20 ปี) ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile arthritis) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) มีระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำผิดปกติ และการเสริมวิตามินซีวันละ 250-1,000 มก. สามารถช่วยให้ผู้ป่วยทั้ง 10 คนหายจากอาการดังกล่าวได้  สอดคล้องกับอีก 2 การศึกษาที่พบว่าวิตามินซีอาจช่วยหยุดการทำลายของข้อที่อักเสบได้ 

– การขาดสารอาหารมีผลลดการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือดที่เหมาะสมและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะความดันหลอดเลือดแดงปอดสูง (Pulmonary arterial hypertension) โดยมีรายงานเรื่องนี้ในชายอายุ 60 ปีที่มีภาวะการขาดวิตามินซีอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก ขาบวม และอาการอื่น ๆ ของการขาดวิตามินซีที่ระบุไว้ข้างต้น แต่เมื่อให้การรักษาด้วยการเสริมวิตามินซี 1,000 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 เดือน อาการดังกล่าวก็หายไป (ระดับวิตามินซีในเลือดเพิ่มขึ้นจาก 5.7 µmol/L เป็น 85 µmol/L) 

https://unsplash.com/photos/4_jhDO54BYg7. ลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัด การรับประทานวิตามินซีเป็นประจำสามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้เล็กน้อย (ส่วนการเสริมเมื่อเป็นหวัดไม่มีประโยชน์) และอาจช่วยป้องกันการเป็นหวัดได้ในบางกรณี เช่น ในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหนัก หรือในช่วงฤดูหนาว (ปริมาณที่ Medthai แนะนำสำหรับไข้หวัดคือ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น) ส่วนรายละเอียดการศึกษาที่สำคัญดังนี้ วิตามินซีช่วยในการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรคและช่วยให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น โดยจากการศึกษาพบว่า การเสริมวิตามินซีวันละ 250 มก. เป็นอย่างน้อย สามารถช่วยเพิ่ม Neutrophils chemotaxis (เป็นตัวป้องกันหลักของร่างกายจากเชื้อโรคต่าง ๆ) ได้ประมาณ 20% และผลด้านนี้จะดีขึ้นถ้าทานร่วมกับวิตามินอี  การเสริมวิตามินซีเป็นประจำช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดได้ โดยที่ในเด็กจะมีแนวโน้มได้ประโยชน์มากกว่าผู้ใหญ่ และการเสริมวิตามินซีวันละ 2,000 มก. อาจมีประสิทธิภาพดีกว่าการเสริมวันละ 1,000 มก. ในการลดความรุนแรงและระยะเวลาการเป็นหวัด แต่เมื่อพิจารณาจากประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้ว ขนาดมาตรฐานที่แนะนำสำหรับหวัดคือวันละ 1,000 มก.  การทบทวนการศึกษาจำนวน 44 ชิ้น พบว่าการเสริมวิตามินซีก่อนเป็นหวัด (โดยปกติคือวันละ 1,000 มก.) สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการหวัดได้เล็กน้อยประมาณ 5% และช่วยให้หายจากอาการหวัดได้เร็วขึ้นประมาณ 8% ในผู้ใหญ่และ 14% ในผู้หญิง เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก ส่วนการเสริมวิตามินซีหลังจากที่เป็นหวัดไปแล้วพบว่าไม่มีประโยชน์ คือ ไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 

     อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่พบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดสูงวันละ 6,000-8,000 มก. ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเป็นหวัด สามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาที่เป็นหวัดได้ แต่การเสริมวิตามินซีในขนาด 3,000-4,000 มก. พบว่าไม่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วย  จากการวิเคราะห์การทดลองทางคลินิก 9 ฉบับ (ระหว่างปี 1950-2001) สรุปได้ว่า การเสริมวิตามินซีเป็นประจำวันละ 1,000 มก. หรือน้อยกว่า หรือการเสริมวิตามินซีในขนาดที่สูงขึ้นเป็นวันละ 3,000-4,000 มก. ในช่วงที่เป็นหวัด อาจช่วยลดระยะเวลาที่เป็นหวัดลงได้เล็กน้อย (ประมาณครึ่งวัน) และลดอาการหนาวสั่นและเจ็บหน้าอกได้เล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยให้อาการคัดจมูกหรืออาการเจ็บคอดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก  การศึกษาทั่วไปพบว่า การเสริมวิตามินซีก่อนเป็นหวัดไม่สามารถช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดได้ ยกเว้นในกลุ่มที่มีภาวะความเครียดทางกายภาพ เช่น ผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหนัก เช่น นักกีฬามาราธอน นักสกี หรือทหาร จะสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นหวัดได้ถึง 52% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (หากรับประทานวิตามินซีก่อนเป็นหวัดหลายวัน)  การศึกษาเล็ก ๆ ในผู้ชายที่มีสุขภาพดีและไม่สูบบุหรี่ (อายุ 18-35 ปี) ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำถึงปานกลาง (น้อยกว่า 45 µmol/L) พบว่าการเสริมวิตามินซี 500 มก. วันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือน จะมีโอกาสเป็นหวัด “ในช่วงฤดูหนาว” น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (7 ต่อ 11 คน) และช่วยลดระยะเวลาการป่วยเป็นหวัดลง 59% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก

8. ลดอาการภูมิแพ้ วิตามินซีสามารถช่วยลดระดับการผลิตฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นตัวการของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของโรคภูมิแพ้ได้ โดยมีการศึกษาที่พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 2,000 มก. เป็นเวลา 1 เดือนขึ้นไป สามารถช่วยลดระดับฮีสตามีนได้ประมาณ 38% และมีผลช่วยให้ลดการกำเริบและอาการของภูมิแพ้ดีขึ้น  สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่ให้วิตามินซีสูงในขนาด 7,500 มก. ทางเส้นเลือด แล้วพบว่าระดับฮีสตามีนลดลงประมาณ 50%  และยังสัมพันธ์กับอาการภูมิแพ้ที่ลดลงอีกด้วย เช่น น้ำมูกไหล ตาม คัน กระสับกระส่าย ปัญหาเรื่องการนอนหลับ 

https://unsplash.com/photos/N7_uZpi-4Ug

9. อาการเมาเรือ วิตามินซีอาจมีประสิทธิภาพในการแก้อาการเมาเรือ (โดยเฉพาะในผูหญิงและผู้ชายที่อายุน้อยกว่า 27 ปี) โดยไม่มีผลข้างเคียง เพราะระดับฮีสตามีนที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเมาเรือ 

10. โควิด 19 (COVID-19) เนื่องจากวิตามินซีมีบทบาทช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง อาหารเสริมวิตามินซีจึงได้รับการส่งเสริมโดยแพทย์บางท่านเพื่อใช้ป้องกัน COVID-19 จากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการได้รับวิตามินซีเกินความต้องการในแต่ละวันจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 หรือช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคเมื่อป่วยได้ การศึกษาในผู้ใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 214 คน พบว่าการรับประทานวิตามินซีวันละ 8,000 มก. (แบ่งทานวันละ 2-3 มื้อหลังอาหาร) ไม่ได้ช่วยลดระยะเวลาของอาการโควิดได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานตามปกติ และผู้ที่ได้รับวิตามินซียังมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการคลื่นไส้ ท้องร่วง และปวดท้องมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการรับประทานวิตามินซีในขนาดสูง และยังไม่พบประโยชน์เมื่อทำการเสริมวิตามินซีร่วมกับสังกะสีหรือซิงค์ (Zinc) ในขนาดสูงวันละ 50 มก. หรือเสริมซิงค์เพียงอย่างเดียวก็ตาม  สอดคล้องกับการศึกษาในกลุ่มชายและหญิงจำนวน 98 คน (อายุ 40 ปีขึ้นไป) ที่ป่วยเป็น COVID-19 และมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งเมื่อให้รับประทานวิตามินซี 1,000 มก. ทุกวันเป็นเวลา 14 วันหลังมีอาการได้ 6 เดือน ก็ไม่พบว่าวิตามินซีจะช่วยลดระยะเวลาที่ป่วยหรือความรุนแรงของโรคแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก  การเสริมวิตามินซีวันละ 1,000-6,000 มก. ก่อนติด COVID-19 ดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์เล็กน้อยกับผู้ป่วยที่ติดโควิดที่มีอาการวิกฤตและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (ช่วยลดระยะเวลาในการช่วยหายใจโดยเฉลี่ย 25%)  ส่วนอีกการศึกษาในประเทศจีน (อายุเฉลี่ย 66 ปี) พบว่าการเสริมวิตามินซีในขนาดที่สูงมาก ๆ คือวันละ 24,000 มก. (ทางเส้นเลือด) เป็นเวลา 7 วัน ทำให้ออกซิเจนในเลือดดีขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยลดวันที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือการตายในช่วง 28 วันหลังเข้ารับการรักษาเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก  การศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยหนักจากโรค COVID-19 และมีอาการช็อก จำนวน 15 คน (อายุเฉลี่ย 72 ปี) พบว่าอัตราการเสียชีวิตก็ยังสูงมากถึง 80% แม้จะให้วิตามินซีวันละ 3,000 มก. เป็นเวลา 2-5 วัน พร้อมกับการรักษาด้วยยามาตรฐานก็ตาม 

11.ลดความดันโลหิต จากการทบทวนการศึกษาจำนวน 29 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิตามินซีวันละ 500 หรือ 1,000 มก. พบว่าความดันโลหิตตัวบน (SBP) ลดลงเฉลี่ย 3.84 mmHg และความดันโลหิตตัวล่าง (DBP) ลดลงเฉลี่ย 1.48 mmHg  สอดคล้องกับอีกการศึกษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่พบว่า ความดันตัวบนลดลงมากกว่า 4.85 mmHg และตัวล่าง 1.67 mmHg (การศึกษานี้ ไม่พบว่าวิตามินซีมีผลโดยตรงในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ซึ่งอาจเป็นเพราะการทดลองมีระยะสั้นเกินไป) อย่างไรก็ตาม การลดความดันโลหิตด้วยการเสริมวิตามินซีนั้นช่วยได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับการใช้ยามาตรฐานที่จะลดความดันโลหิตได้ประมาณ 10 mmHg การศึกษาของ Mullan BA และคณะ พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. เป็นเวลา 1 เดือน สามารถช่วยลดความดันโลหิตและความแข็งตัวของหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้ 

12.ลดระดับน้ำตาลในเลือด การศึกษาในปี 2018 ในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยทั้ง 27 คนเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าการเสริมวิตามินซี 500 มก. วันละ 2 ครั้ง (1,000 มก./วัน) เป็นเวลา 4 เดือน นอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกแล้ว (ความดันตัวบน (SBP) ลดลงเฉลี่ย 7 mmHg และความดันตัวล่าง (DBP) ลดลงเฉลี่ย 5 mmHg)) ยังช่วยลดปริมาณน้ำตาลกลูโคสหลังรับประทานอาหารได้ถึง 36% และมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงน้อยลงไป 2.8 ชั่วโมงในแต่ละวัน (แต่ไม่มีผลต่อค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c)  การศึกษาในปี 2017 พบว่าในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีระดับวิตามินซีในเลือดน้อยกว่าผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติอย่างมีนัยสำคัญ และมีความต้องการวิตามินซีที่มากกว่าตยปกติ และการศึกษายังพบด้วยว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ รวมถึงผู้ที่เสี่ยงเป็นเบาหวาน ก็พบระดับวิตามินซีในเลือดต่ำเช่นกัน และร่างกายจำเป็นต้องได้รับวิตามินซีเพิ่มขึ้น  การศึกษาที่เก่ากว่าในปี 2007 พบว่าการเสริมวิตามินซีวันละ 1,000 มก. ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด (FBS), ค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c), ไตรกลีเซอร์ไรด์ (TG), คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และระดับฮอร์โมนอินซูลินลดลงอย่างนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่าง อย่างไรก็ตาม การให้วิตามินซีวันละ 500 มก. ไม่พบการเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ 

13.โรคหัวใจและหลอดเลือด ด้วยวิตามินซีมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, มีฤทธิ์ลดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันชนิด LDL และมีฤทธิ์ป้องกันการถูกทำลายจากเซลล์บุหลอดเลือดด้านใน จึงเชื่อว่าการเสริมวิตามินซีอาจเป็นประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยมีการศึกษาที่พบว่าการได้รับวิตามินซีจากอาหารน้อยมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาผลของการใช้วิตามินซีในรูปของอาหารเสริมยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากการศึกษาในปัจจุบันให้ผลขัดแย้งกัน แต่เชื่อว่าการเสริมวิตามินซีน่าจะมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงนี้ในผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินซี  การเสริมวิตามินซีวันละ 500 มก. สามารถช่วยลดภาวะหลอดเลือดกลับมาตีบซ้ำอีกหลังจากการขยายหลอดเลือดด้วยวิธี Angioplasty 

14.โรคไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease : NAFLD) การรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง (มากกว่าวันละ 146 มก.) สัมพันธ์กับอัตราการเกิดโรคไขมันพอกตับ (NAFLD) ที่ลดลง 29% เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวิตามินซีต่ำ (น้อยกว่าวันละ 75 มก.)  การศึกษาในประเทศจีนในคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไขมันพอกตับ (NAFLD) จำนวน 84 คน ซึ่งไม่มีใครขาดวิตามินซี พบว่าการรับประทานวิตามินซีวันละ 200, 1,000 หรือ 2,000 มก. ก่อนอาหารเป็นเวลา 12 สัปดาห์ บ่งชี้ว่าการทำงานของตับดีขึ้น (AST, ALT และ/หรือ GGT) โดยกลุ่มที่ให้ในขนาด 1,000 มก. พบว่าได้ประโยชน์สูงสุด 

15. ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ การศึกษาในระยะยาว (ประมาณ 14 ปี) พบว่าความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะต่ำเมื่อมีระดับวิตามินซีในเลือดมากกว่า 15.33 µmol/L และความเสี่ยงจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึง 45.99-59.62 µmol/L โดยที่ระดับวิตามินซีในเลือดที่มากกว่านี้จะไม่ลดความเสี่ยงลงอีก ส่วนความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดก็พบว่ามีลักษณะคล้ายกัน แต่กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจะยังลดลงได้อย่างต่อเนื่องแม้จะมีระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงขึ้นหรือสูงกว่า 60.19 µmol/L  อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาที่แยกออกมาที่พบว่าระดับวิตามินซีในเลือดที่สูงกว่า 60 µmol/L มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นแทน (แทนที่จะลดลง) เมื่อเทียบกับระดับวิตามินซีในเลือดที่ต่ำกว่า (อ่านข้อเพิ่มเติมในหัวข้อ “ผลข้างเคียง/ข้อควรระวัง” ด้านล่าง) ผู้สูงอายุที่รับประทานวิตามินซีและวิตามินอีเสริมมีอัตราการตายจากโรคก่อนเวลาอันควรน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริม  สอดคล้องกับการศึกษาในแคลิฟอร์เนียที่พบว่า ผู้ที่เสริมวิตามินซีมากกว่าวันละ 750 มก. มีอัตราการตายจากโรคก่อนเวลาอันควรลดลง 60%  การเสริมวิตามินซีวันละมากกว่า 700 มก. ช่วยลดความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคหัวใจ 62% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวิตามินซีวันละ 60 มก. หรือน้อยกว่า  “””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/vitamin-c/ | Medthai

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed