ข่าวการศึกษา-ศาสนา-วัฒนธรรม

“ซูสีไทเฮา” สตรีผู้ทรงอิทธิพล

By admin

November 16, 2022

15 พฤศจิกายน 1908: วันสวรรคต “ซูสีไทเฮา” สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

พระพันปีฉือสี่ (Empress Dowager Cixi) หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันในชื่อ “ซูสีไทเฮา” ประสูติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1835 (พ.ศ. 2378) ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ทรงเป็นพระสนมของพระเจ้าเสียนเฟิง (Xianfeng, ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1850-61, หรือ พ.ศ. 2393-2404) และทรงเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าถงจื้อ (Tongzhi, ครองราชย์ ค.ศ. 1861-75 หรือ พ.ศ. 2404-18) รวมถึงพระราชมารดาบุญธรรมของพระเจ้ากวังซฺวี่ (Guangxu, ครองราชย์ ค.ศ. 1875-1908 หรือ พ.ศ. 2418-51)

ซูสีไทเฮา ทรงเป็นผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงในการปกครองแผ่นดินจีนนานเกือบครึ่งศตวรรษ ทำให้พระองค์กลายมาเป็นสตรีที่มีอิทธิพลในการเมืองจีนมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์

เดิมที ซูสีไทเฮาทรงเป็นเพียงพระสนมระดับล่างของพระเจ้าเสียนเฟิง แต่เมื่อปี ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) ซูสีไทเฮาทรงให้กำเนิดพระราชโอรสพระองค์เดียวของพระเจ้าเสียนเฟิง เมื่อพระเจ้าเสียนเฟิงสวรรคต พระราชโอรสวัย 6 พรรษาจึงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าถงจื้อ โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการจำนวน 8 คน เป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน

แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน องค์ชายกงชินหวัง (Gong Qinwang) พระอนุชาของพระเจ้าเสียนเฟิงได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากคณะผู้สำเร็จราชการ แล้วให้ซูสีไทเฮา และซูอันไทเฮา (หรือพระพันปีหลวงฉืออัน พระสนมใหญ่ของพระเจ้าเสียนเฟิง) เป็นผู้สำเร็จราชการร่วมกัน ส่วนองค์ชายกงได้รับตำแหน่งเป็นองค์ชายที่ปรึกษา (prince counsellor)

การปกครองหลังการยึดอำนาจ กลุ่มอำนาจใหม่ภายใต้การนำขององค์ชายกง สามารถจัดการกับการก่อกบฏที่เกิดขึ้นทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ และมุ่งหน้าไปสู่การปฏิรูปตามอย่างตะวันตกตั้งแต่การตั้งโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศ มีการรับธรรมเนียมอย่างตะวันตกมาใช้ รวมถึงวิทยาการด้านการทหาร มีการตั้งองค์กรประสานงานด้านต่างประเทศ มีความพยายามในการแก้ปัญหาการทุจริต และหาคนมีฝีมือเข้ามารับราชการ

เมื่อพระเจ้าถงจื้อเจริญพระชนมายุถึงวัยที่สามารถใช้อำนาจเต็มได้ คณะผู้สำเร็จราชการจึงถูกยกเลิกไป แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ เพราะพระเจ้าถงจื้อสวรรคตหลังจากนั้นราว 2 ปี สองพระพันปีจึงกลายมาเป็นผู้สำเร็จราชการอีกครั้ง ในรัชสมัยของพระเจ้ากวังซฺวี่ พระนัดดาของซูสีไทเฮา ซึ่งพระองค์ทรงรับเป็นพระโอรสบุญธรรม

แต่เมื่อซูอันไทเฮาสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหันในปี 1881 (พ.ศ. 2424) ซูสีไทเฮาก็กลายมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนแต่เพียงผู้เดียว และอีกสามปีต่อมา พระองค์ก็ทรงปลดองค์ชายกงออกจากตำแหน่งองค์ชายที่ปรึกษา

ในปี 1889 (พ.ศ. 2432) ซูสีไทเฮาทรงลดบทบาททางการเมืองลง และหันไปใช้ชีวิตอยู่ที่พระราชวังฤดูร้อนที่พระองค์สร้างขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง แต่ในปี 1898 (พ.ศ. 2441) ไม่กี่ปีหลังจากที่จีนพ่ายแพ้ในสงครามกับญี่ปุ่น (1894-95 หรือ พ.ศ. 2437-38) พระเจ้ากวังซฺวี่ได้รับอิทธิพลจากเหล่าข้าราชการสายปฏิรูปที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ทำให้มีการออกกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจีนยกใหญ่ในยุคนี้ แต่สุดท้ายก็ถูกข้าราชการสายอนุรักษ์นิยมออกมายึดอำนาจจากองค์จักรพรรดิแล้วคืนตำแหน่งผู้สำเร็จราชการให้กับซูสีไทเฮาอีกครั้ง

หลังจากนั้นมา ซูสีไทเฮาทรงหนุนหลังเหล่าข้าราชการที่คอยยุยงกลุ่มกบฏนักมวย ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมให้ออกมาเล่นงานชาวต่างชาติ โดยในปี 1900 (พ.ศ. 2443) การเคลื่อนไหวของกลุ่มกบฏนักมวยถึงจุดสูงสุด มีชาวต่างชาติถูกฆ่าตายในช่วงนี้นับร้อยราย สถานทูตของประเทศต่างๆ ถูกปิดล้อม แต่กองกำลังต่างชาติก็รวมกำลังกันโต้ตอบและสามารถเข้ายึดกรุงปักกิ่งได้สำเร็จ

ซูสีไทเฮาจึงต้องทรงหลบหนีออกจากเมืองหลวง และสุดท้ายก็ต้องทรงยอมรับข้อตกลงสันติภาพที่ถูกมองว่าเป็นการหยามเกียรติของพระองค์ ต่อเมื่อพระองค์ทรงกลับไปประทับที่กรุงปักกิ่งในปี 1902 (พ.ศ. 2445) พระองค์จึงเริ่มการปฏิรูปที่เคยถูกยกเลิกไปในปี 1898 อีกครั้ง แม้ว่าพระเจ้ากวังซฺวี่จะไม่มีบทบาทในรัฐบาลอีกต่อไปแล้วก็ตาม

อ้างอิง: Encyclopedia Britannica. “Cixi empress dowager of China”.จาก silpa-mag.com

นอกจากนี้ท่านยังสามารถ อัพเดต ติดตามข้อมูลข่าวสาร แผนการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน รวมถึงสาระดีดี ได้ที่ www.krumaiiam.comFacebook Fanpage : krumaiiam เพราะเราคือครูรุ่นใหม่Facebook Fanpage : วิถีครูเวรFacebook Group: แบ่งปันสื่อการสอน by krumai