ความรู้ทั่วไป

จัดทำแผนการเรียนการสอนยังไงให้ปังแบบสุดๆ

By admin

September 03, 2022

วิธีการ จัดทำแผนการเรียนการสอน

การจะจัดทำแผนการเรียนการสอนออกมาได้มีประสิทธิภาพ ต้องทุ่มเทเวลาและแรงกายแรงใจ แต่ที่สำคัญกว่าคือความเข้าใจ ว่าเด็กแต่ละคนนั้นมีเป้าหมายอะไรและมีความสามารถมากแค่ไหน แต่สำหรับผู้สอนอย่างคุณ ต้องมีจุดมุ่งหมายเป็นการกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กอยากเรียน ทำยังไงให้เขาเข้าใจและคงไว้ซึ่งความรู้นั้น เรามีไอเดียสร้างห้องเรียนในฝันมาฝากกัน

เริ่มที่โครงสร้างพื้นฐาน

1 จุดประสงค์ของคุณคืออะไร. ไม่ว่าจะสอนเรื่องอะไร ต้องเริ่มด้วยจุดประสงค์ของการเรียนการสอนนั้น กำหนดให้สั้นๆ ง่ายๆ ที่สุด ประมาณว่า “นักเรียนจะได้รู้และแยกแยะได้ว่าโครงสร้างร่างกายของสัตว์แต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร ทั้งการกิน หายใจ เคลื่อนไหว และเอาชีวิตรอด” พูดง่ายๆ จุดประสงค์ในการเรียนการสอนก็คือสิ่งที่นักเรียนจะทำได้หลังเรียนวิชานี้จบไงล่ะ! ถ้าอยากให้พิเศษยิ่งขึ้น ก็เพิ่มเติมไปด้วย ว่านักเรียนจะทำสิ่งนั้น ได้ยังไง (อาจจะผ่านคลิปวิดีโอ เกมส์ บัตรคำ หรืออื่นๆ เป็นต้น)

2 เขียนโครงร่างโดยสรุป. เลือกมาเขียนโครงร่างเฉพาะหัวข้อเด่นๆ เช่น ถ้าคุณจะสอนเกี่ยวกับ สุนทรภู่ โครงร่างของคุณก็ควรพูดถึงประวัติของสุนทรภู่และผลงานเด่นๆ เป็นต้น

3 กำหนดตารางเวลา. ถ้าเวลามีจำกัด แต่เนื้อหานั้นเยอะเหลือเกิน ให้คุณลองแตกย่อยแผนการเรียนการสอนของคุณออกเป็นช่วงๆ โดยสามารถลัดขั้นตอนหรือชะลอไว้ก่อนได้ตามสถานการณ์ ตัวอย่างข้างล่างคือแผนการเรียนการสอนสำหรับระยะเวลา 1 ชั่วโมง

4 ทำความรู้จักนักเรียน. ต้องรู้ชัดว่านักเรียนของคุณคือใคร มีสไตล์การเรียนแบบไหน (เน้นภาพ เสียง สัมผัส หรือทุกอย่างผสมผสานกันไป)? มีพื้นฐานอะไรมาบ้างแล้ว และอะไรที่ต้องสร้างเสริม? การเรียนการสอนของคุณต้องเหมาะสมกับนักเรียนส่วนใหญ่ในชั้นเรียน และมีการเสริมหรือปรับแต่งบทเรียนบ้างตามสถานการณ์ เพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนที่ด้อยทักษะความสามารถกว่า พิจารณาเพิ่มเติมว่าใครอ่อน ใครไม่ตั้งใจ และใครที่มีพรสวรรค์เป็นพิเศษ

5 ออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน. บางคนก็ทำงานเดี่ยวได้ดี บางคนต้องทำเป็นคู่ ส่วนอีกหลายคนชอบทำเป็นกลุ่ม จะแบบไหนก็ขอให้มีปฏิสัมพันธ์กันไว้และได้ประโยชน์กันทุกคน ถึงจะเป็นการเรียนการสอนที่ประสบผลสำเร็จ ที่บอกให้คุณออกแบบกิจกรรมหลายๆ รูปแบบ ก็เพราะนักเรียนแต่ละคนนั้นมีสไตล์การเรียนแตกต่างกันออกไป ถ้าคุณใส่ใจเรื่องนี้ นักเรียนของคุณ (และชั้นเรียนโดยรวม) ก็จะพัฒนาขึ้นอย่างแน่นอน!

6 ยอมรับสไตล์การเรียนที่แตกต่างกันของนักเรียนแต่ละคน. แน่นอนว่าคุณต้องบังเอิญมีนักเรียนบางคนที่ไม่มีสมาธิพอจะนั่งดูคลิปยาว 25 นาทีแบบรวดเดียวจบ ส่วนอีกคนก็เป็นพวกทำใจอ่านบทคัดย่อแค่ 2 หน้าจากในหนังสือไม่ไหว นั่นไม่ได้หมายความว่านักเรียนทั้งสองแบบเป็นคนโง่นะ เป็นหน้าที่คุณต่างหากที่ต้องเอื้อประโยชน์ให้นักเรียนโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมของคุณให้นักเรียนแต่ละคนได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า

ลงรายละเอียดการเรียนการสอนแต่ละช่วง

1 เกริ่นนำ. ก่อนเริ่มบทเรียน นักเรียนมักจะยังไม่ทันตั้งตัวรับข้อมูล ถ้าอยู่ๆ คุณก็เริ่มสอนเข้าประเด็นสำคัญเลย อย่างการวิเคราะห์ความหมายแฝงจากเรื่องพระอภัยมณี สุดท้ายทั้งคุณและเด็กก็จะรู้สึกประมาณว่า “เอ้ย เดี๋ยวๆ ใจเย็น กลับไปเล่าก่อนไหม ว่า “สุนทรภู่” คือใคร?” ค่อยๆ ปูทางให้นักเรียนดีกว่า นั่นแหละจุดประสงค์ของช่วงเกริ่นนำ นอกจากจะได้ประเมินความรู้ของนักเรียนแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศนำเข้าบทเรียนด้วย

2 เข้าสู่บทเรียน. ก็ตามนั้นแหละ เริ่มสอนเนื้อหาของวันนี้กันได้เลย ไม่ว่าจะสอนแบบไหน คุณต้องเริ่มจากการนำเสนอข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอ เพลง เอกสาร หรือแค่แนวคิดก็ตาม นี่แหละแก่นของการเรียนการสอนล่ะ ถ้าขาดไปละก็ นักเรียนจะเหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่างเลย

3 ทำกิจกรรมร่วมกัน. ตอนนี้พอนักเรียนได้ศึกษาจากบทเรียนแล้ว ก็ถึงเวลาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อนำความรู้มาใช้จริง ตอนนี้นักเรียนยังใหม่อยู่ ต้องมีคุณหรือก็คือผู้สอนคอยแนะแนวทาง ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ อย่างแบบฝึกหัด การจับคู่ หรือผ่านภาพ ก่อนจะให้เขาลุยเดี่ยวก็ต้องสอนให้เขาพอรู้วิธีซะก่อนสิ!

4 ตรวจงานแล้วประเมินผล. พอจบกิจกรรมแล้วก็ถึงเวลาประเมินผลงานของนักเรียน ดูซิว่านักเรียนเข้าใจสิ่งที่คุณสอนไปหรือเปล่า? ถ้าเข้าใจก็ดีไป จะได้ขยับขยายไปยังบทเรียนที่ยากหรือลึกซึ้งขึ้น ไม่ก็ฝึกฝนซ้ำด้วยแบบฝึกหัดที่ยากขึ้น แต่ถ้านักเรียนยังไม่ค่อยเข้าใจ ให้กลับไปทวนบทเรียน คราวนี้คิดพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่าจะนำเสนอให้แตกต่างออกไปอย่างไร นักเรียนถึงจะเข้าใจมากขึ้น?

5 ฝึกเขียนรายบุคคล. ตอนนี้พอนักเรียนมีพื้นฐานแล้ว ก็ถึงเวลาปล่อยให้เขาแสดงความรู้ความสามารถด้วยตัวเอง แต่ไม่ได้แปลว่าให้คุณเดินออกจากห้องไปซะเดี๋ยวนี้นะ! แค่ปล่อยให้นักเรียนได้ใช้หัวคิด สร้างสรรค์อะไรๆ ด้วยตัวเองให้มากขึ้น หัดนำความรู้ที่ได้เรียนไปมาใช้จริง ดูซิว่าจะออกมาเป็นยังไง?

6 เหลือเวลาไว้ให้เด็กสอบถามด้วย. ถ้าในคาบมีเวลาพอเหลือ ให้เก็บ 10 นาทีสุดท้ายหรือมากกว่านั้นไว้สำหรับช่วงถาม-ตอบ อาจจะเริ่มจากการอภิปรายกันจนขยับขยายไปเป็นคำถามเกี่ยวกับบทเรียนก็ได้ หรือจะปล่อยเป็นช่วงให้นักเรียนยกมือถามได้ตามสบายก็แล้วแต่ แบบไหนก็มีประโยชน์กับนักเรียนทั้งนั้นแหละ

7 สรุปปิดท้ายบทเรียนแบบชัดเจน. ในมุมนึง การเรียนการสอนก็เหมือนการพูดคุยสนทนากัน ถ้าอยู่ๆ ก็ตัดจบไปซะเฉยๆ ก็เหมือนคนที่พูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรหรอก…แต่จะทิ้งความรู้สึกประหลาดๆ บอกไม่ถูกไว้นี่สิ ถ้าเวลาเอื้ออำนวย ให้คุณสรุปปิดท้ายก่อนเลิกเรียน เป็นเหมือนการ บอก นักเรียนไปตรงๆ ไงล่ะ ว่าวันนี้สรุปแล้วเขาได้อะไรติดตัวกลับไปบ้าง!

เตรียมตัวเข้าสอน

1 ถ้าตื่นเต้น ให้เขียนเป็นสคริปต์ไว้พูดเลย. พวกครูใหม่ๆ จะรู้สึกอุ่นใจเวลามีสคริปต์ไว้ว่าต้องพูดอะไรบ้าง ปกติก็ไม่ต้องทุ่มทุนสร้างขนาดนั้นหรอก แต่ถ้าทำแล้วช่วยได้ก็ทำไปเถอะ ถ้าคุณรู้ล่วงหน้าแบบเป๊ะๆ ว่าจะถามอะไรและต้องการให้อภิปรายกันไปในทางใด จะได้หายตื่นเต้นไงล่ะ

2 ยืดหยุ่นหน่อย. คุณลงรายละเอียดถึงขั้นนาทีต่อนาทีเลยใช่ไหม? ดีมาก แต่ขอให้เอาไว้ใช้เป็นแนวทางก็พอ อย่าถึงขนาดบอกนักเรียนว่า “เด็กๆ! บ่ายโมงสิบห้าแล้ว! ทำอะไรอยู่ให้หยุดก่อนนะ” แบบนั้นไม่ใช่การเรียนการสอนที่ดีเท่าไหร่ ถึงจะเป็นเรื่องดีที่ควรสอนไปตามแผน แต่ก็ต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ด้นสดหรือพลิกแพลงตามสถานการณ์บ้างแหละ

3 เกินดีกว่าขาด. มีกิจกรรมที่จะสอนเยอะเกินเวลายังดีกว่าเหลือเวลาแล้วไม่มีอะไรจะสอน ถึงจะลงรายละเอียดไปจนแน่นตารางแล้ว ก็ต้องมีแผนสำรองไว้ ถ้าอะไรที่จะใช้เวลา 20 นาที ให้ลองทำให้ได้ใน 15 นาทีดู ไม่แน่ นักเรียนของคุณอาจซุ่ม มีพื้นฐานแน่นเรื่องนั้นกันมาแล้วก็ได้!

4 แผนการเรียนการสอนต้องชัดเจน คนอื่นเข้าใจได้. เผื่อเกิดเหตุสุดวิสัยคุณเข้าสอนไม่ได้ คนอื่นที่มาสอนแทนจะได้อ่านแผนการเรียนการสอนของคุณเข้าใจ หรืออีกแง่นึงคือถ้าคุณเขียนล่วงหน้าไว้นานจนลืม พอเอากลับมาอ่านใหม่จะได้เข้าใจทันทีไงล่ะ

5 แผนสำรองนี่แหละสำคัญ. ในชีวิตการเป็นครูของคุณ ต้องมีบ้างแหละที่เจอเด็กเทพ สอนนิดเดียวก็เข้าใจฉลุยจนคุณถึงกับอึ้ง หรือวันที่เลื่อนการสอบ มีเด็กมาเข้าเรียนแค่ครึ่งห้อง ไม่ก็วิดีโอหรือดีวีดีที่สู้อุตส่าห์เตรียมมาเกิดเปิดไม่ออกซะอย่างนั้น เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยที่คุณไม่คาดคิด แผนสำรองนี่แหละที่จะช่วยชีวิตคุณ

เคล็ดลับ

ข้อมูลจาก https://th.wikihow.com/

นอกจากนี้ท่านยังสามารถ อัพเดต ติดตามข้อมูลข่าวสาร แผนการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน รวมถึงสาระดีดี ได้ที่ www.krumaiiam.comFacebook Fanpage : krumaiiam เพราะเราคือครูรุ่นใหม่Facebook Fanpage : วิถีครูเวรFacebook Group: แบ่งปันสื่อการสอน by krumai