ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม

0

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม

ทฤษฎีมนุษยนิยมมีวิวัฒนาการมาจากทฤษฎีกลุ่มที่เน้นการพัฒนาตามธรรมชาติ แต่ก็จะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ คือเป็นกระบวนการมากยิ่งขึ้น กลุ่มทฤษฎีมนุษยนิยมเป็นทฤษฎีที่คัดค้านการทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์แล้วมาใช้อ้างอิงกับมนุษย์และปฏิเสธที่จะใช้คนเป็นเครื่องทดลองแทนสัตว์ นักทฤษฎีในกลุ่มนี้เห็นว่ามนุษย์มีความคิด มีสมอง มีอารมณ์และอิสรภาพในการกระทำ การเรียนการสอนตามแนวทฤษฎีนี้เชื่อว่าผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียน การจัดการเรียนการสอนจึงมุ่งให้เกิดการเรียนรู้ทั้งด้านความเข้าใจ ทักษะและเจตคติไปพร้อม ๆ กันโดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม การแสดงออกตลอดจนการเลือกเรียนตามความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก บรรยากาศในการเรียนเป็นแบบร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขันกันอาจารย์ผู้สอนทำหน้าที่ช่วยเหลือให้กำลังใจและอำนวยความสะดวกในขบวนการเรียนของผู้เรียนโดยการจัดมวลประสบการณ์ เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

          หลักการหรือความเชื่อของทฤษฎีมนุษย์นิยม คือ

          1. มนุษย์มีธรรมชาติแห่งความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้

          2. มนุษย์มีสิทธิในการต่อต้านหรือไม่พอใจในผลที่เกิดขึ้นจากสิ่งต่างๆ แม้สิ่งนั้นจะได้รับการยอมรับว่าจริง

          3. การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ คือ การที่มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงแนวความคิด หรือมโนทัศน์ของตนเอง

          1) ทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ของ Maslow (Abraham Harold Maslow: 1908-1970)

           มาสโลว์มองว่าธรรมชาติแล้วมนุษย์เกิดมาดี และพร้อมที่จะทำสิ่งดี ถ้าความต้องการพื้นฐานได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ เป็นผู้ที่มองว่าความดีที่อยู่ในตัวมนุษย์เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด การเรียนรู้หรือการแสดง พฤติกรรมเกิดจากแรงผลักดันภายในตัวบุคคล เด็กมีธรรมชาติพร้อมที่จะศึกษาสำรวจสิ่งต่างๆ และมนุษย์ทุกคนมีแรงภายในที่จะไปถึงสภาพการณ์ที่เรียกว่า “การรู้จักตนเองตรงตามสภาพที่เป็นจริง (self actualization)” หรือความต้องการที่จะตระหนักในความสามารถของตนเอง ซึ่งหมายถึงความสามารถที่จะเข้าใจตนเอง ยอมรับตนเองทั้งในส่วนบกพร่องและส่วนดี รู้ทั้งจุดอ่อนและตระหนักในความสามารถของตนเองพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่มีต่อตนเอง มาสโลว์ได้กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีความต้องการและจะสนองความต้องการให้กับตนเองทั้งสิ้น ซึ่งความต้องการเรียงจากความต้องการขั้นต่ำสุดขึ้นไปหาความต้องการขั้นสูงสุด ดังนี้

          1) ความต้องการทางด้านร่างกาย

          2) ความต้องการความปลอดภัย

          3) ความต้องการความรักและเป็นเจ้าของ

          4) ความต้องการที่จะเป็นที่ยอมรับและ ได้รับการยกย่อง

          5) ความต้องการที่จะตระหนักในความสามารถของตนเองหรือรู้จักตนเอง

          6) ความต้องการที่จะรู้และที่จะเข้าใจ

          7) ความต้องการทางด้านสุนทรียะ

          โดยมาสโลว์ได้อธิบายว่า เมื่อความต้องการในขั้นหนึ่งที่ต่ำกว่าได้รับการตอบสนอง มนุษย์ก็จะมีความต้องการในขั้นต่อไป ซึ่งความต้องการที่ได้รับการตอบสนองในแต่ละขั้นนั้นไม่จำเป็นต้องได้รับเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ก่อนจึงจะมีความต้องการในขั้นต่อไปที่สูงขึ้น

          นอกจากนั้น มาสโลว์ได้แบ่งความต้องการทั้ง 7 ขั้น ออกเป็น 2 กลุ่มคือ

          กลุ่มที่ 1 (ความต้องการขั้นที่ 1 – 4) เรียกว่า “ความต้องการขั้นต่ำ” หรือความต้องการเนื่องจากการขาดหรือไม่มีซึ่งเป็นการตอบสนองจากปัจจัยภายนอก

          ส่วนกลุ่มที่ 2 (ความต้องการขั้นที่ 5 – 7) เรียกว่า “ความต้องการขั้นสูง” หรือความต้องการพัฒนา เป็นความต้องการเนื่องมาจากการแสวงหา มิใช่เนื่องมาจากการขาดหรือการไม่มี หากความต้องการขั้นต่ำได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ มนุษย์จะพัฒนาขึ้นมาถึงความต้องการในขั้นที่ 5 ซึ่งเป็นความต้องการที่จะรู้จักตนเองตรงตามสภาพ เป็นความต้องการของผู้ที่จะพัฒนาขึ้นไปสู่ความเป็นคนที่สามารถใช้ความสามารถที่ตนเองมีอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ จะเป็นผู้ที่คำนึงถึงตัวปัญหามากกว่าตัวบุคคล เป็นผู้ที่คำนึงถึงบุคคลอื่น ทั้งนี้เพราะตนเองได้รับการสนองความต้องการขั้นต่ำอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งเป็นผู้ที่มองเห็นศักดิ์ศรีและคุณค่าในตนเอง ตลอดจนมีความนับถือในตนเองซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ความดีที่ติดตัวมาแต่กำเนิดจะปรากฏออกมา       ตามแนวคิดของมาสโลว์ มนุษย์พร้อมที่จะใช้ความสามารถที่มีอยู่ในตนเองทำประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างเต็มที่

          2) ทฤษฎี client centered ของโรเจอร์ (Carl Rogers: 1902-1987)

         โรเจอร์ส ได้อธิบายถึง กระบวนการพัฒนาการทางบุคลิกภาพว่า มีกระบวนการ 2 ประการดังนี้

        1. กระบวนการพัฒนาการค่านิยม (Organizing Valuing Process) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า โรเจอร์สเชื่อว่า บุคคลเกิดมา พร้อมพลัง หรือแรงจูงใจ ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่สภาวะของการรู้จักตนเองอย่างแท้จริง และเนื่องจากบุคคลเกิดมาจาก สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจสิ่งแวดล้อมและโลกส่วนตัวของบุคคลด้วย(Internal Frame of Reference) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่บุคคลจะเลือกรับรู้ และให้ ความหมายต่อประสบการณ์ต่างๆ เช่น เด็กที่ถูกนำไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ อาจเกิด ความกลัว ที่อาจเกิดมาจาก การรับรู้ โดยไม่จำเป็นต้องมาจากสภาพ ความเป็นจริงของสิ่งแวดล้อมเสมอไป และเมื่อเด็กมีประสบการณ์เพิ่มเติม ที่ทำให้เกิด ความเชื่อว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่นั้น ไม่น่ากลัวอย่างที่เคยรับรู้ ทำให้เด็กมีการรับรู้ โดยไม่จำเป็นต้องมาจากสภาพ ความเป็นจริงของสิ่งแวดล้อมเสมอไป และเมื่อเด็กมีประสบการณ์เพิ่มเติม ที่ทำให้เกิด ความเชื่อว่า สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่นั้น ไม่น่ากลัวอย่างที่เคยรับรู้ ทำให้เด็กมีการรับรู้เปลี่ยนแปลงไป เป็นการรับรู้ใหม่ หากจะกล่าวโดยสรุป จะเห็นว่า การที่เด็กเกิดมาหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น ปลอดภัยเต็มไปด้วย ความรักเอาใจใส่ จะทำให้เด็กรับรู้และให้ค่านิยม ต่อประสบการณ์นั้น ไปทางบวก เด็กจะรับรู้ต่อสภาพแวดล้อม และให้ ความหมายของการรับรู้ตาม ความเป็นจริง ในทางตรงข้าม เด็กที่ได้รับสิ่งแวดล้อมทางลบ เขาก็จะให้ค่านิยมต่อประสบการณ์ในทางลบ สิ่งเหล่านี้ ถือว่าเป็นกระบวนการพัฒนาการทางค่านิยม ที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นประสบการณ์ของบุคคล จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการทางค่านิยมของบุคคล

        2. การยอมรับจากผู้อื่น (Positive Regard from others) จะเห็นได้ว่า ตัวตน (self) ของบุคคล จะเริ่มพัฒนาเมื่อบุคคล มีปฏิกิริยาสัมพันธ์ กับสิ่งแวดล้อม รอบตัวเขา เขาจะรับรู้ ความจริงของสภาพแวดล้อม และนำเอาประสบการณ์ต่าง มาให้ ความหมายต่อการรับรู้เรียกว่า ประสบการณ์แห่งตนเอง (Self-Experience) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเอง กับบุคคลที่สำคัญที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมของเขา จะนำไปสู่การพัฒนา อัตมโนทัศน์ (Self-Concept)เพราะทำให้บุคคลรู้สึกถึง ความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

การพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลจะเริ่มจาก ในช่วงแรกของชีวิต ทารกไม่สามารถแยกตนเองออกจากสิ่งแวดล้อม และนึกว่าเป็นตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ทำให้เด็กติดพ่อแม่ และสิ่งแวดล้อมตนเองได้ และเริ่มเข้าใจตัวตนของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ จะเป็นช่วงที่เด็กมุ่งแสวงหา ความต้องการ พึงพอใจเพื่อสนอง ความต้องการของตน เพราะเขาพึ่งตนเองไม่ได้ต้องพึ่งคนอื่น จึงเรียนรู้ที่จะเรียกร้อง ความสนใจและการยอมรับจากผู้อื่น เมื่อโตขึ้นเด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่าพฤติกรรมบางอย่างทำให้ผู้อื่นตอบสนองเขาอย่างรักใคร่ บางอย่างอาจทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ ไม่ยอมรับและไม่ได้รับการตอบสนอง ปฏิกิริยาเหล่านี้ทำให้เด็กเลือกพฤติกรรมที่ทำให้คนอื่นพอใจ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ เด็กจึงเรียนรู้ที่จะรับค่านิยมของผู้อื่นมาไว้ในตนเอง ทำให้เกิดการประเมินตนเอง (Self-Evaluation) จากพฤติกรรมที่ผู้อื่นยอมรับ หรือไม่ยอมรับ เขามาเป็นเครื่องตัดสิน

        3. การยอมรับตนเอง (Self-Regard) บุคคลจะเรียนรู้ที่จะยอมรับตนเองจากการที่เขารับรู้ว่าผู้อื่นแสดงการยอมรับในตัวเขาหรือไม่ อย่างไร โดยไม่คำนึงถึง ความต้องการของตนเอง แต่จะเอา ค่านิยมของผู้อื่นที่มีต่อตัวเขา เป็นเกณฑ์ในการประเมินพฤติกรรมของตนว่า ดีเลว ทำให้เขาแสดงพฤติกรรรมเพื่อให้สนอง ความต้องการของผู้อื่น และให้ผู้อื่นยอมรับมากกว่า การคำนึงถึง ความพึงพอใจของตน ทำให้เขารับเอา (Interject) ค่านิยมผู้อื่นเข้ามาไว้ในตนเอง

        4. ภาวะของการมีคุณค่า (Conditions or Worth) เป็นลักษณะที่บุคคลรู้สึกว่าตน มีคุณค่า เพราะเขาสามารถยอมรับตนเองได้ โดยมโนภาพแห่งตนที่เขารับรู้สอดคล้องกับ ความเป็นจริง เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่ถ้ามโนภาพแห่งตนของเขาแตกต่างไปจาก ความจริง จะทำให้เขาเกิด ความวิตกกังวลและปฏิเสธ ไม่ยอมรับตนเองตาม ความเป็นจริง ทำให้เขามีพฤติกรรมไม่สมเหตุสมผล ไม่สามารถปรับตัวได้ หากบุคคลรับเอาค่านิยมของผู้อื่น หรือบรรทัดฐานของผู้อื่น และสังคมเข้าไว้ในตนเองมากเกินไป จะทำให้เขาไม่สามารถยอมรับตนเองได้เกิดความรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า เกิด ความคับข้องใจขึ้น

       จะเห็นได้ว่า การที่บุคคลจะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพได้อย่างเหมาะสมนั้น จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เด็กได้รับโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเด็กได้รับ ความรักจากครอบครัวโดยปราศจากเงื่อนไข (Unconditional Positive Regard) จะทำให้เด็กเกิด ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยซึ่งเป็น ความรู้สึกที่เป็นพื้นฐานของการมีบุคลิกภาพสมบูรณ์ ทั้งนี้เนื่องจากการยอมรับโดยปราศจากเงื่อนไข จะทำให้บุคคลเรียนรู้ถึงแม้ว่าพฤติกรรมบางอย่างของเขาจะไม่เป็นที่ยอมรับ แต่พ่อแม่ก็ยังให้ ความรักและยอมรับเขาอยู่เขาจะไม่เกิด ความรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า และยังสามารถยอมรับตนเอง และสามารถมองตนเองในทางบวก (Positive Self-Regard) ได้และแม้ว่า เขาจะมีการตัดสินใจทำบางอย่างที่ผิดพลาด เขาก็ยังกล้าที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ไปสู่การเปลี่ยนแปลงและแก้ไขได้ กล้าที่จะเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ๆ สามารถใช้พลังที่มีอยู่ในตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กระบวนการพัฒนาค่านิยมและการยอมรับตนเองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถรับรู้ และให้ ความหมายต่อประสบการณ์ต่างๆ ตาม ความเป็นจริง มี ความพอใจในตนเอง และสามารถพัฒนาตนเองให้อยู่อย่างมีประสิทธิภาพ (Fully Functioning Person) 

        ลักษณะของผู้ทีมีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ (Healthy Personality) ผู้ที่มีบุคลิกที่สมบูรณ์ในทัศนะของโรเจอร์ส จะมีลักษณะต่างๆ ได้แก่ เป็นผู้ที่มี ความสามารถปรับตัวได้ตาม ความเป็นจริง มี ความสอดคล้องระหว่างตัวตนกับประสบการณ์ สามารถเปิดตนเองออกรับประสบการณ์ใหม่ ๆ รับ ความต้องการที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก ได้ถูกต้องเข้าใจตนเอง สามารถเลือกและตัดสินใจตอบสนอง ความต้องการของตนเองได้ รับรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันเป็นตัวของตัวเองสามารถนำเอาประสบการณ์ต่างๆมาพัฒนาตนเอง เชื่อใน ความสามารถของตนเอง ตลอดจนรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และไม่ตัดสินใจที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยขึ้นอยู่กับการยอมรับหรือการไม่ยอมรับจากผู้อื่น

          3) ทฤษฎีการพัฒนาตนเองของคอมบ์ส (Arthur W. Combs ค.ศ.1912-1999)

          คอมบ์สเป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เกิดเมื่อ ปี ค.ศ.1912 มีความเชื่อว่า “พฤติกรรมส่วนใหญ่ของบุคคล เป็นผลมาจากการรับรู้สิ่งแวดล้อมในช่วงนั้นและเวลานั้น” ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับเรื่อง “life space” ของเลวิน จาก แนวคิดนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้สอนควรจะต้องพยายามเข้าใจสภาพการเรียนการสอน โดยการทำความเข้าใจว่าผู้เรียนมองสิ่ง ต่างๆอย่างไร จากจุดนี้นำไปสู่ข้อสรุปว่า ในการช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนนั้นจะต้องชักจูงให้ผู้เรียนปรับทั้งความเชื่อและ การรับรู้ของผู้เรียนจนกระทั่งสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆต่างไปจากเดิม และแสดงพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม ความคิดของคอมบ์ส บางส่วนคล้ายกับบรูนเนอร์ ในกลุ่ม cognitive แต่จะเน้นในด้านการรับรู้ของผู้เรียนมากกว่า การคิดและการให้เหตุผลดังเช่นคนอื่นๆ นอกจากนั้น คอมบ์ส มีความเชื่อว่า การที่บุคคลรับรู้เกี่ยวกับตนเองเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งนำไปสู่หลักการสำคัญในการจัดการเรียนการสอน คือการช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับ ตนเองในแง่บวก ทั้งมาสโลว์และคอมบ์สต่างก็เน้นว่ามนุษย์นั้นมีลักษณะของการพึ่งตนเอง ทำอะไรด้วยตนเอง แต่ มาสโลว์เน้นที่แรงจูงใจภายในเป็นตัวกระตุ้นให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมตามลำดับขั้นของความต้องการ ส่วนคอมบ์สอธิบายว่าการแสดงพฤติกรรมของบุคคลนั้นเป็นไปเพื่อความเพียงพอ ซึ่งหมายความว่าความต้องการพื้นฐานของ มนุษย์คือความเพียงพอนั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรม หากเป็นเช่นนั้นแสดงว่า ผู้เรียนต้องการ ความเพียงพอเท่าที่จะเป็นไปได้ในทุกสถานการณ์ ดังนั้นบทบาทของผู้สอนจะต่างจากแนวความคิดของกลุ่ม พฤติกรรมนิยมกลุ่ม S-R ที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เรียนได้ด้วยการใช้การเสริมแรง คอมบ์สได้ให้แนวคิดว่า งานของครูผู้สอนมิใช่เป็นเพียงการตั้งข้อกำหนด การปั้นเด็ก การขู่บังคับ การเยินยอ หรือการช่วยเหลือเด็ก แต่งาน ของครูผู้สอนควรเป็นไปในลักษณะผู้อำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน กระตุ้น ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ สามารถทำกิจกรรม เป็นผู้ร่วมคิด และเป็นเพื่อนกับผู้เรียน”  จากความเชื่อของคอมบ์สดังกล่าว จึงเสนอลักษณะที่ดี ของผู้สอนไว้ดังนี้ 

          1) เป็นผู้ที่มีความรู้ 

          2) เป็นเพื่อร่วมงานกับผู้เรียน 

          3) มีความศรัทธาและเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนมี ความสามารถที่จะเรียนรู้ได้   

          4) เป็นผู้ที่มีความคิดในเชิงบวกกับตนเองซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกนึกคิดในเชิงบวกกับผู้อื่น 

          5) มีความเชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้เรียนทุกคนให้ทำดีที่สุดเท่าที่ตัวผู้เรียนจะทำได้ 

          6) สามารถประยุกต์หลัก ทฤษฏีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน

การประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอน

          1. ครูควรให้ความเข้าใจผู้เรียน ควรเป็นคนใจกว้าง ไม่ยึดติดกับความคิด หรือความเชื่อของตนเอง ควรรับฟังผู้เรียนให้มากขึ้น

          2. กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเอง มีการแบ่งหน้าที่ให้ผู้เรียนแต่ละคนให้มีบทบาทในชั้นเรียนเท่าๆ กัน

          3. ควรจัดการเรียนตามสภาพจริง หรือสภาพที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล

          4. ควรจัดการเรียนรู้โดยไม่ยึดติดกับเงื่อนไขหรือข้อจำกัดทางวัฒนธรรมของสังคม

          5. ควรจัดการเรียนรู้ตามความต้องการหรือความต้องการของผู้เรียน               

6. ควรจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ว่าชีวิต และสิ่งต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งมีค่า ให้ผู้เรียนเห็นค่าในตนเองและเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

http://013nawattakam.blogspot.com/2015/09/blog-post_59.html

นอกจากนี้ท่านยังสามารถ อัพเดต ติดตามข้อมูลข่าวสาร แผนการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน รวมถึงสาระดีดี ได้ที่ www.krumaiiam.com
Facebook Fanpage : krumaiiam เพราะเราคือครูรุ่นใหม่
Facebook Fanpage : วิถีครูเวร
Facebook Group: แบ่งปันสื่อการสอน by krumai

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed