ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์

0

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นนายแพทย์ จิตแพทย์ และนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย เกิดเมื่อวันที่ 06 พฤษภาคม ค.ศ. 1856และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1939เป็นผู้สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ซึ่งเป็นทฤษฎีทางด้านการพัฒนา Psychosexual         

ฟรอยด์เชื่อว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณติดตัวมาแต่กำเนิด พฤติกรรมของบุคคลเป็นผลมาจากแรงจูงใจหรือแรงขับพื้นฐานที่กระตุ้นให้บุคคลมีพฤติกรรม คือ สัญชาตญาณทางเพศ (sexual instinct) 2 ลักษณะคือ      

 1.  สัญชาตญาณเพื่อการดำรงชีวิต       

 2.  สัญชาตญาณเพื่อความตาย        ฟรอยด์ได้กล่าวถึงพลังงานพื้นฐานทางจิตที่เรียกว่า Libido ซึ่งเกิดมาพร้อมกับมนุษย์ พลังงานเหล่านี้เป็นแหล่งของแรงขับทางเพศของบุคคลทั้งหมด โดยเน้นว่าชีวิตเพศของมนุษย์มิได้เริ่มเมื่อวัยหนุ่มสาว หากแต่เริ่มมาตั้งแต่เด็กและจะค่อยๆ พัฒนาเปลี่ยนรูปแบบเป็นลำดับขั้นขึ้นไป แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามขั้นจะมีการชะงัก (Fixation) หรือการถอยกลับ (Regression) ทำให้มีผลทะท้อนไปถึงบุคลิกภาพตอนโต
ฟรอยด์ได้แบ่งขั้นพัฒนาการทางเพศไว้ 5 ขั้นตอน คือ
      

 1.  ขั้นปาก (Oral Stage) (แรกเกิด – 18 เดือน) ลิบิโดไปกระตุ้นบริเวณปาก การดูดจึงเป็นการลดภาวะเครียดของเด็ก แต่เด็กบางคนอาจเกิดภาวะติดค้างได้ ซึ่งอาจเนื่องจากการหย่านมด้วยวิธีการรุนแรง การมีน้องเร็ว การที่มารดามีภารกิจมาก เป็นต้น เมื่อบุคคลนี้เติบโตขึ้นก็อาจมีพฤติกรรมชอบกินเหล้า สูบบุหรี่ กินจุกจิก จู้จี้ขี้บ่น เป็นต้น      

 2.  ขั้นทวารหนัก (Anal Stage) (อายุ 1 ปี 6 เดือน – 3 ปี 6 เดือน) ลิบิโดไปกระตุ้นที่ทวารหนัก การกัก และการปล่อยอุจจาระจึงเป็นการลดภาวะเครียดของเด็ก แต่ถ้าผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูใช้วิธีการเข้มงวดในการฝึกวินัยในการขับถ่าย เด็กจะเกิดภาวะติดค้าง เมื่อโตขึ้นอาจมีนิสัยเผด็จการหรือไม่มีความพอดีในเรื่องความสะอาดและการใช้จ่าย      

 3.  ขั้นอวัยวะเพศ (Phallic Stage) (อายุ 3 ปี 6 เดือน – 6 ปี) ลิบิโดไปกระตุ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเด็กเริ่มสนใจความแตกต่างระหว่างเพศ จึงทำให้ชอบจับต้องอวัยวะเพศเล่น เป็นการลดภาวะเครียด แต่ผู้ใหญ่มักใช้ค่านิยมของตนไปตัดสินพฤติกรรมของเด็กว่าไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นการขัดขวางการลดภาวะเครียดของเด็ก ทำให้เด็กเกิดภาวะติดค้าง เมื่อโตขึ้นเด็กก็อาจจะชอบแสดงออกในเรื่องเพศ ชอบพูดจาสองแง่สองง่าม หรือให้ความสนใจต่อเรื่องเพศมากเป็นพิเศษ  ในขั้นนี้มีสิ่งสำคัญเกิดขึ้นคือ เด็กชายเกิดปมโอดิปุส (Oedipus Complex) และเด็กหญิงจะเกิดปมอีเลคตร้า (Electra Complex) ซึ่งหมายถึงความรู้สึกของเด็กชายที่รักและติดแม่ เด็กหญิงจะรักและติดพ่อ และเด็กชายจะเลียนแบบพ่อเพื่อให้เป็นที่รักของแม่ ส่วนเด็กหญิงจะเลียนแบบแม่เพื่อให้เป็นที่รักของพ่อ อันส่งผลให้เริ่มมีบุคลิกภาพสอดคล้องกับเพศของตน        4.  ขั้นพัก หรือขั้นแฝง (Latency Stage) (อายุ 6 – 12 ปี) ขั้นนี้ถือได้ว่าเป็นการพัก แต่มิใช่ว่าไม่มีการกระตุ้นของลิบิโดแต่พฤติกรรมทางเพศเป็นไปอย่างสะเปะสะปะไม่อยู่ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งโดยเฉพาะจึงไม่มีภาวะติดค้าง        

5.  ขั้นเพศ (Genital Stage) (อายุ 12 – 20 ปี) เป็นช่วงวัยรุ่น ลิบิโดจะไปกระตุ้นบริเวณอวัยวะเพศ และเป็นไปอย่างมี “วุฒิภาวะทางเพศ” กล่าวคือ พร้อมต่อการสืบพันธุ์ การลดภาวะเครียดจึงเป็นการบำบัดความใคร่ด้วยตนเอง (Masturbation) ทั้งนี้เนื่องจากสภาพทางสังคมยังไม่เอื้อต่อการให้บุคคลในวัยนี้มีคู่ครองทั้งๆ ที่มีความต้องการทางการสืบพันธุ์สูงมาก
ฟรอยด์มีความเชื่อว่า ลักษณะจิตใจของบุคคลสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ        ฟรอยด์เชื่อว่าบุคลิกภาพมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้      

 อิด (Id) เป็นส่วนที่กระตุ้นความต้องการของบุคคลและบงการการตอบสนองความต้องการตามหลักแห่งความพึงพอใจ (Pleasure Principle) คือ คำนึงความพึงพอใจของตนเองเป็นใหญ่ โดยไม่คำนึงว่าผู้อื่นจะเดือดร้อนหรือไม่  

อีโก้ (Ego) เป็นส่วนที่กระตุ้นให้บุคคลตอบสนองความต้องการที่เกิดจากอิด โดยไม่ให้อิดบงการการตอบสนอง อีโก้จะตอบสนองตามหลักแห่งความเป็นจริง (Reality Principle) คือ คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างตนเองกับผู้อื่น        

ซูเปอร์อีโก้ (Superego)เป็นส่วนที่บงการการตอบสนองความต้องการของอิด โดยคำนึงถึงหลักแห่งมโนธรรม (Moral Principle) คือคำนึงถึงประโยชน์สุขของผู้อื่น แต่ตนเองอาจทุกข์ก็ได้ ถือว่าเป็นการตอบสนองความต้องการในระดับสูงกว่าเกณฑ์ปกติของคนทั่วไป        การทำงานของคนทั้ง 3 ประการจะพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลให้เด่นไปด้านใดด้านหนึ่งของทั้ง 3 ประการนี้ แต่บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ คือ การที่บุคคลสามารถใช้พลังอีโก้เป็นตัวควบคุมพลังอิด และซูเปอร์อีโก้ให้อยู่ในภาวะที่สมดุลได้
กลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism) ฟรอยด์และบุตรีแอนนา ฟรอยด์ ได้แบ่งประเภทกลไกในการป้องกันตัวดังต่อไปนี้

การเก็บกด (Repression) หมายถึง การเก็บกดความรู้สึกไม่สบายใจ หรือความรู้สึกผิดหวัง ความคับข้องใจไว้ในจิตใต้สำนึก จนกระทั่ง ลืมกลไกป้องกันตัวประเภทนี้มีอันตราย เพราะถ้าเก็บกดความรู้สึกไว้มากจะมีความวิตกกังวลใจมาก และอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้

          การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) หมายถึง การปรับตัว โดยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โดยให้คำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนอื่น ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่ตีลูก มักจะบอกว่า การตีทำเพื่อเด็ก เพราะเด็กต้องได้รับการทำโทษเป็นบางครั้งจะได้เป็นคนดี พ่อแม่จะไม่ยอมรับว่าตี เพราะโกรธลูก

การถดถอย (Regression) หมายถึง การหนีกลับไปอยู่ในสภาพอดีตที่เคยทำให้ตนมีความสุข ตัวอย่างเช่น เด็ก 2-3 ขวบ ที่ช่วยตนเองได้ มีน้องใหม่ เห็นแม่ให้ความเอาใจใส่กับน้อง มีความรู้สึกว่าแม่ไม่รัก และไม่สนใจตนเท่าที่เคยได้รับ จะมีพฤติกรรมถดถอยไปอยู่ในวัยทารกที่ช่วยตนเองไม่ได้ ต้องให้แม่ทำให้ทุกอย่าง

การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) หมายถึง กลไกป้องกันตน โดยการทุ่มเทในการแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับความรู้สึกของตนเอง ที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคม อาจจะไม่ยอมรับ ตัวอย่างแม่ที่ไม่รักลูกคนใดคนหนึ่ง อาจจะมีพฤติกรรมตรงข้าม โดยการแสดงความรักมากอย่างผิดปกติ

การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy หรือ Day dreaming)  เป็นการสร้างจินตนาการ หรือมโนภาพ เกี่ยวกับสิ่งที่ตนมีความต้องการ แต่เป็นไปไม่ได้

การแยกตัว (Isolation) หมายถึง การแยกตนให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง ตัวอย่างเช่น เด็กที่คิดว่าพ่อแม่ไม่รัก อาจจะแยกตนปิดประตูอยู่คนเดียว

การหาสิ่งมาแทนที่ (Displacement) เป็นการระบายอารมณ์โกรธ หรือคับข้องใจต่อคน หรือสิ่งของ ที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ เป็นต้นว่า บุคคลที่ถูกนายข่มขู่ หรือทำให้คับข้องใจ เมื่อกลับมาบ้านอาจจะใช้ภรรยา หรือลูกๆ เป็นแพะรับบาป เช่น อาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อภรรยา และลูก ๆ นักเรียนที่โกรธครู แต่ทำอะไรครูไม่ได้ ก็อาจจะเลือกสิ่งของ เช่น โต๊ะเก้าอี้เป็นสิ่งแทนที่ เช่น เตะโต๊ะ เก้าอี้

การเลียนแบบ (Identification) หมายถึง การปรับตัวโดยการเลียนแบบบุคคลที่ตนนิยมยกย่อง ตัวอย่างเช่น เด็กชายจะพยายามทำตัวให้เหมือนพ่อ เด็กหญิงจะทำตัวให้เหมือนแม่           กลไกในการป้องกันตัว เป็นวิธีการที่บุคคลใช้ในการปรับตัว เมื่อประสบปัญหาความคับข้องใจ การใช้กลไกป้องกันจะช่วยยืดเวลาในการแก้ปัญหา เพราะจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ความไม่สบายใจ ทำให้คิดหาเหตุผล หรือแก้ไขปัญหาได้

การประยุกต์ใช้ทฤษฎีพัฒนาการทางเพศของซิกมันด์ฟรอยด์
        พัฒนาการมนุษย์ตามแนวคิดของฟรอยด์เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เด็กมีการพัฒนาการด้านบุคลิกภาพที่เหมาะสมได้ เพราะหากเด็กผ่านแต่ละวัยมาโดยไม่มีปัญหา ไม่เกิดการชะงักที่วัยใดวัยหนึ่งก็จะโตขึ้นมีบุคลิกภาพที่ปกติ แต่ถ้าเด็กมีปัญหาในแต่ละขั้นของพัฒนาการก็จะมีบุคลิกภาพผิดปกติ เช่น เด็กเกิดการชะงักที่ขั้นปาก ก็จะส่งผลต่อเด็กเมื่อโตขึ้น เช่น สูบบุหรี่ กัดนิ้ว ดูดนิ้ว รับประทานมาก เป็นต้น เราจึงควรมีการเลี้ยงดูที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย        ในขั้นอวัยวะเพศ เด็กจะมีการแบ่งแยกบุคลิกภาพทางเพศในขั้นนี้ เด็กเริ่มมีการสนในและเรียนรู้เรื่องของแตกต่างด้านเพศ มีความสนใจสอบถามหรือเลียนแบบพฤติกรรม เด็กผู้ชายจะเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อ เด็กผู้หญิงจะเรียนแบบพฤติกรรมของแม่ เพราะฉะนั้นต้องให้ความรู้ด้านเพศที่ถูกต้องแก่เด็ก หากเด็กไม่ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง หรือขาดต้นแบบที่ดีอาจทำให้เด็กเกิดการสับสนทางเพศ และโตขึ้นอาจจะเบี่ยงเบนทางเพศได้        ครูผู้สอนสามารถนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศที่ถูกต้อง เริ่มมีการสอนในเรื่องของบทบาทในสังคมที่ถูกต้อง และในขั้นของเพศครูก็ควรหากิจกรรมเสริมต่างๆ ให้นักเรียนได้ทำ เช่น กิจกรรมกีฬา กิจกรรมดนตรี เป็นต้น เพื่อไม่ให้เด็กหมกมุ่นแต่ในเรื่องเพศ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/concepts_of_developmental_psychology/01_3.html

นอกจากนี้ท่านยังสามารถ อัพเดต ติดตามข้อมูลข่าวสาร แผนการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน รวมถึงสาระดีดี ได้ที่ www.krumaiiam.com
Facebook Fanpage : krumaiiam เพราะเราคือครูรุ่นใหม่
Facebook Fanpage : วิถีครูเวร
Facebook Group: แบ่งปันสื่อการสอน by krumai

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed