ฝึกรับมือกับปัญหา ด้วยทฤษฎีหมวก 6 ใบ

0

ฝึกรับมือกับปัญหา ด้วยทฤษฎีหมวก 6 ใบ

“คุณครูบอกว่า วันนี้ต้องหักคะแนนเด็กชาย A เพราะไม่ส่งการบ้าน โดยเด็กชาย A สารภาพว่าเล่นเกมจนดึกจนลืมทำการบ้าน” ถ้าคุณพ่อคุณแม่เจอสถานการณ์แบบนี้ จะคุยกับลูกอย่างไร ?

เราเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนคงอยากให้ลูกเรียนรู้จากความผิดพลาด และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ แต่เมื่อโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ การชวนมองเฉพาะข้อดีกับข้อเสีย อาจไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ 

วันนี้เราเลยอยากชวนมาทำความรู้จักกับ “ทฤษฎีหมวกการคิด 6 ใบ (Six Thinking Hats)” ของคุณ Edward de Bono ซึ่งเป็นวิธีการคิดเพื่อแก้ปัญหาอย่างรอบด้านที่ใช้ได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่บทความนี้เราจะลองมาปรับใช้เพื่อฝึกลูกให้รับมือกับความผิดพลาดกัน

ว่าแล้วก็หยิบหมวกมาสวมทีละใบ แล้วคิดไปพร้อมกับเด็กชาย A กันเลยดีกว่า

1. หมวกสีขาว (White Hat)  คือการพูดถึงข้อเท็จจริง ที่ไม่มีความคิดเห็นหรืออารมณ์ความ

รู้สึกมาเกี่ยวข้อง โดยผู้ปกครองอาจถามเด็ก ๆ ว่า ปัญหาหรือความผิดพลาดนี้คืออะไร มีสาเหตุมาจากไหนได้บ้าง และเงื่อนไขที่เจออยู่เป็นอย่างไร เช่น 

  • ปัญหา : เด็กชาย A ไม่ได้ส่งการบ้านทำให้ถูกหักคะแนน
  • สาเหตุที่ไม่ได้ส่งการบ้าน : เพราะเมื่อคืนง่วงนอนมาก เด็กชาย A เลยลืมทำ
  • สาเหตุที่ง่วง : เพราะการเล่นเกมจนดึก 
  • สาเหตุที่เล่นเกมจนดึก : เพราะคิดว่าจะเล่นเกมก่อนแล้วค่อยทำการบ้าน แต่เล่นเพลินจนลืมดูเวลา
  • เงื่อนไข : ยังสามารถส่งย้อนหลังได้ แม้คะแนนจะน้อยลง

เมื่อถามหาสาเหตุไปเรื่อย ๆ โดยเน้นข้อเท็จจริงเป็นหลัก อาจจะช่วยให้พบต้นตอของปัญหาได้ในที่สุด ซึ่งในสถานการณ์นี้  ปัญหา คือ การจัดลำดับความสำคัญของเด็กชาย A  และการควบคุมตัวเองไม่ให้เล่นเกมเกินเวลา ส่วนเงื่อนไขที่มีตอนนี้ คือยังส่งการบ้านย้อนหลังได้ แต่คะแนนจะลดลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการหาทางแก้ภายใต้เงื่อนไขที่มีอยู่ 

2. หมวกสีแดง (Red Hat) คือการแชร์อารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อปัญหา เพื่อให้เด็ก ๆ รู้เท่าทันตัวเอง 

แยกอารมณ์ออกจากเหตุผล  และได้แสดงความรู้สึกจริง ๆ ออกมา เพราะหากใช้เหตุผลเพียงอย่างเดียว พวกเขาอาจไม่ได้จัดการกับความรู้สึกของตัวเอง เช่น

  • เด็กชาย A รู้สึกผิด 
  • เด็กชาย A ยังอยากเล่นเกม เพราะเกมสนุกกว่าการบ้าน เขารู้สึกว่าการบ้านน่าเบื่อ

ความรู้สึกผิดของเด็กชาย A  แสดงว่าเขายังอยากแก้ไขอยู่ แต่ไม่อยากให้ผู้ปกครองมองข้ามความรู้สึกสนุกกับเกม แต่เบื่อการบ้านของเขาด้วย เพราะถ้าหักดิบด้วยการห้ามไม่ให้เล่นเกมอีกเลย อาจสร้างความรู้สึกต่อต้านให้เด็กชาย A ได้ ดังนั้น เราควรหาทางสร้างแรงจูงใจ ให้เด็กชาย A อยากทำการบ้านมากขึ้น เล่นเกมน้อยลง

3. หมวกสีดำ (Black Hat) คือการมองข้อเสีย ผลกระทบที่เกิดขึ้น และสถานการณ์ที่แย่ที่สุดที่เป็น

ไปได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ รอบคอบ ระมัดระวัง และนึกถึงผลที่ตามมามากขึ้น เช่น

  • เกมอาจจะชวนให้ติดลมจนลืมสิ่งที่ต้องทำ ถ้าในอนาคตเป็นเรื่องใหญ่กว่าการบ้านอาจจะส่งผลเสียมากกว่านี้อีก
  • การส่งงานช้ากว่ากำหนด ยิ่งทำให้เสียเวลามากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น แถมยังอดเล่นเกมเพราะต้องเอาเวลาไปทำการบ้านย้อนหลัง และการบ้านชิ้นใหม่

4. หมวกสีเหลือง (Yellow Hat) คือการมองข้อดี หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์นั้น ๆ เพื่อให้เขาไม่รู้

สึกว่าปัญหามีแต่ด้านที่แย่เพียงอย่างเดียว และมีกำลังใจในการแก้ไข แถมยังช่วยให้มองเห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่ เช่น

  • คุณครูยังให้โอกาสส่งย้อนหลัง และหักคะแนนไม่มาก
  • ทำให้ได้ทบทวนตัวเอง แล้วพบว่าปัญหาคือการจัดลำดับความสำคัญของตัวเอง

5. หมวกสีเขียว (Green Hat) คือความคิดสร้างสรรค์ มองเห็นทางเลือก และวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่

เป็นไปได้ ภายใต้เงื่อนไขที่มีอยู่ เช่น

  • เปลี่ยนมาทำการบ้านให้เสร็จก่อนเล่นเกมทุกครั้ง เพราะคิดว่ายังควบคุมเวลาการเล่นเกมของตัวเองไม่ได้ ถ้าทำแบบเดิมอาจจะลืมอีกรอบ
  • ตกลงกับพ่อแม่ว่าจะลิสต์กิจกรรมต่าง ๆ โดยเรียงลำดับความสำคัญ แล้วพยายามทำตามเหมือนเป็น Mission ตามลิสต์นั้น ถ้าทำได้แล้วจะให้รางวัลตัวเอง หรือได้รางวัลจากคุณพ่อคุณแม่

6. หมวกสีฟ้า (Blue Hat) คือการมองภาพรวม และสรุปความคิดทั้งหมด ก่อนตัดสินใจ เช่น

“เด็กชาย A สรุปได้ว่า การลืมส่งการบ้านครั้งนี้ มาจากปัญหาคือ ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมที่ทำ ซึ่งอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ในอนาคต ถ้าไม่จัดการปัญหานี้ แต่ก็ยังอยากเล่นเกม และไม่ชอบทำการบ้าน เลยตกลงกับพ่อแม่ว่าจะสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง ด้วยการทำ Mission ลิสต์กิจกรรมตามลำดับความสำคัญแล้วทำตามนั้น  ถ้าทำสำเร็จสัปดาห์นี้ จะไม่ต้องช่วยคุณพ่ออาบน้ำให้เจ้าตูบ แล้วเอาเวลาส่วนนี้ไปเล่นเกมได้”

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกคิดผ่านการถาม-ตอบแบบสถานการณ์ข้างต้น หรือจะปรับใช้เป็นเกมสนุก ๆ สมมติสถานการณ์มาให้ลูกลองฝึกคิด ก็เป็นกิจกรรมในวันหยุดเก๋ ๆ ได้เหมือนกัน

แต่การถามอาจจะต้องระวังเรื่องน้ำเสียงและการใช้ภาษา ที่ไม่ทำให้ลูกตีความว่าเรากำลังตำหนิหรือถามจี้อยู่ ส่วนการเสนอแนะทางเลือกหรือคำตอบ ก็สามารถทำได้โดยไม่ชี้นำ ไม่เป็นประโยคคำสั่ง เช่น “ถ้าเป็นทางเลือกนี้ลูกคิดว่ายังไงบ้าง” คล้ายกับการเสนอไอเดีย แต่ก็ยังเปิดให้เขาได้แสดงความคิดเห็น ตัดสินใจด้วยตนเอง 

ขอบคุณข้อมูลจาก starfish academy.

นอกจากนี้ท่านยังสามารถ อัพเดต ติดตามข้อมูลข่าวสาร แผนการจัดการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน รวมถึงสาระดีดี ได้ที่ www.krumaiiam.com
Facebook Fanpage : krumaiiam เพราะเราคือครูรุ่นใหม่
Facebook Fanpage : วิถีครูเวร
Facebook Group: แบ่งปันสื่อการสอน by krumai

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed